เปิดเงื่อนไข สปส.ให้สิทธิ 'ผู้ประกันตนชาย' ม.33-ม.39 'เบิกค่าคลอดบุตร' ได้
ประกันสังคม ขานรับนโยบาย รมว.แรงงาน ให้สิทธิ 'ผู้ประกันตนชาย' มาตรา 33 และ มาตรา 39 ในกรณีที่ภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 'เบิกค่าคลอดบุตร' ได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน-เติมทุนสร้างสุขให้แรงงาน เปิดเงื่อนไข เช็กรายละเอียดได้ที่นี่
กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ให้ความไว้วางใจให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) โดยหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อย รมว.พิพัฒน์ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้สิทธิ "ผู้ประกันตนชาย" สามารถ "เบิกค่าคลอดบุตร" ได้
ผู้ประกันตนชาย มาตรา 33 และ มาตรา 39 เบิกค่าคลอดบุตรได้
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน อธิบายในเรื่องนี้ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.)มีนโยบายสำคัญในการเสริมสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อลดภาระหนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และเติมทุน สร้างสุขให้แรงงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้ประกันตนมีภาระค่าใช้จ่าย
โดยเฉพาะ "ผู้ประกันตนชาย" ที่ภรรยามีบุตร ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ทำให้สถานะทางการเงินในครอบครัวได้รับผลกระทบนั้น สำนักงานประกันสังคม เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้ให้ ผู้ประกันตนชายที่ภรรยาคลอดบุตรสามารถขอรับสิทธิได้
ตั้งแต่ค่าตรวจและฝากครรภ์ คลอดบุตรและสงเคราะห์บุตรได้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายโดยผู้ประกันตนหญิง หรือชายซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้าของครอบครัว ที่ต้องดูแลลูก
เปิดเงื่อนไข ให้สิทธิ ผู้ประกันตนชาย ม.33 - ม.39 เบิกค่าคลอดบุตรได้
โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้สิทธิผู้ประกันตนชาย มาตรา 33 และมาตรา 39 ในกรณีที่ภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ผู้ประกันตนชายสามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม แบ่งเป็น 3 กรณีตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม ดังนี้
1. กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ ผู้ประกันตนชายสามารถเบิกเท่าที่จ่ายจริงจำนวน 5 ครั้ง ไม่เกิน 1,500 บาท ดังนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
เอกสารประกอบการเบิกค่าคลอดบุตรมีอะไรบ้าง
ทั้งนี้ผู้ประกันตนชาย มาตรา 33 และมาตรา 39 ในกรณีที่ภรรยาไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ผู้ประกันตนชายสามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคมได้ แต่ต้องแนบเอกสารประกอบการเบิกค่าคลอดบุตร ดังนี้
- ใบรับรองแพทย์
- หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก
- ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่ตรวจและฝากครรภ์
- สำเนาทะเบียนสมรส
- สำหรับกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีใบทะเบียนสมรส ยื่นกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อใช้สิทธิด้วย
2. ผู้ประกันตนชายมาตรา 33 มาตรา 39 สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร จะต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวล 15 เดือน ก่อนเดือนที่ภรรยาคลอดบุตร จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอด จำนวน 15,000 บาท เบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
3. ผู้ประกันตนชายที่จดทะเบียนสมรสกับภรรยาหรือจดทะเบียนรับรองบุตรว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ผู้ประกันตนชายสามารถขอรับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตรได้เดือนละ 800 บาท ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ อีกด้วย
ผู้ประกันตน สามารถขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านระบบ e-self service และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีค่าตรวจและฝากครรภ์ คอดบุตร สงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่นสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณที่มา: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน