Lifestyle

รู้จักภาวะ 'Shaken Baby Syndrome' แค่เขย่า อันตรายถึง สมอง-ตาย ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จักภาวะ 'Shaken Baby Syndrome' อันตรายใกล้ตัว แค่เขย่า อันตรายถึง สมอง และ ตาย ได้ เช็กวิธี สังเกตอาการเบื้องต้น

จากคำสารภาพของ "นิ่ม" ที่ยอมบอกเล่าปมเหตุ ก่อน "น้องต่อ" ลูกชายวัย 8 เดือนหายตัวไป เป็นเพราะการอุ้มแบบเขย่าไปมา เพื่อให้เด็กหยุดร้อง จนหล่นหัวกระแทกพื้น สุดท้ายก็พบว่า ลูกน้อย เสียชีวิตแล้ว ด้วยความกลัวความผิด จึงอุ้มเด็กโยนลงแม่น้ำ

 

แม้จะไม่ชัดเจนว่า สาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากหัวกระแทกพื้น แต่การเขย่าเด็กวัยก่อน 2 ขวบ ทำให้เกิดภาวะ "Shaken Baby Syndrome" ได้ ฟังดูอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู พ่อแม่คนไทยสักเท่าไร แต่สำหรับต่างประเทศแล้ว ตระหนักว่าโรคนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ มิหนำซ้ำความรุนแรงยังอันตรายถึงชีวิตลูกน้อยได้อีกด้วย

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือ "หมอหมู" อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ข้อมูลว่า จากสถิติพบว่า เด็กที่มีอาการ Shaken Baby Syndrome 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ในขณะที่อีก 1 ใน 3 กลายเป็นเด็กพิการไปตลอดชีวิต เช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมอง และอีก 1 ใน 3 อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

Shaken Baby Syndrome

Shaken Baby Syndrome คืออะไร 

 

Shaken Baby Syndrome  คือโรคที่มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เกิดจากการที่พ่อแม่จับลูกเขย่าแรงๆ อาจจะด้วยความตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่น การเขย่าตัวเด็กเพื่อให้หยุดร้องไห้ การเล่นกับเด็กรุนแรง หรือโลดโผนเกินไป เช่น จับลูกวัยยังไม่ถึง 1 ขวบ โยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วรับ แรงเขย่านั้นจะทำให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศรีษะ จนสมองได้รับการกระทบกระเทือนและมีเลือดออก เพราะเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กๆ ยังไม่แข็งแรง โอกาสที่มีการฉีกขาดจึงมีมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กทารกวัย 3-8 เดือน และอาจจะลุกลามไปถึงขั้นเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดได้ด้วย


โดยทั่วไปเด็กที่ถูกเขย่า และมีอาการ Shaken Baby Syndrome จะไม่ค่อยมีสัญญาณภายนอกให้พ่อแม่เห็น จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษา ปล่อยทิ้งไว้เพราะความไม่รู้ เด็กจึงมีโอกาสเสียชีวิต มีปัญหาทางสายตา เป็นลมชักหรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา แต่ถึงแม้ว่าอาการของโรค Shaken Baby Syndrome จะสังเกตได้ยาก แต่แนะนำให้หมั่นสังเกต หากลูกถูกเขย่าตัวรุนแรง แล้วมีอาการดังนี้ 

Shaken Baby Syndrome

วิธีสังเกตอาการเสี่ยงเป็นโรค Shaken Baby Syndrome 

 

  • อาเจียน 
  • หายใจติดขัด หรือหายใจลำบาก 
  • กลืนน้ำลายไม่ได้ 
  • ไม่ยอมดูดนม 
  • เซื่องซึม 
  • หน้าผากบวม หรือมีเนื้อปูดออกมาที่ศีรษะ 

 

หากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และต้องแจ้งกับแพทย์ด้วยว่า เด็กถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยอาการและทำการรักษาอย่างทันท่วงทีเพราะอาการ Shaken Baby Syndrome อาจมีผลให้สมองเด็กได้รับอันตราย หรือเลือดออกในสมอง เด็กอาจจะไม่รู้สึกตัว ช็อก ชัก หรือหยุดหายใจ บางคนถึงขั้นโคม่ามาเลยก็มี แต่ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เลือดออกด้วย ซึ่งต้องรีบรักษา มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อเด็ก จนอาจไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ทัน

Shaken Baby Syndrome

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ กุมารแพทย์ระบบประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ แนะนำว่า หากลูกร้องไห้ไม่หยุดไม่รู้จะทำอย่างไร และเริ่มรู้สึกเครียด หรือโมโห ควรขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในครอบครัว ให้ช่วยดูแลลูกแทนสักพัก หากไม่มีใครช่วยจริงๆ อาจวางลูกในที่ที่ปลอดภัย ที่ลูกจะไม่พลัดตกลงมา แล้วแวบออกนอกห้อง ไปสูดหายใจลึกๆ สัก 2-3 นาที แล้วค่อยกลับมาเริ่มใหม่

 

พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ต้องเข้าใจว่า การร้องไห้เป็นธรรมชาติของทารก เป็นการสื่อสาร ที่แม้เราจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร หากแน่ใจว่าลูกกินอิ่ม จับเรอแล้ว ผ้าอ้อมไม่แฉะ ไม่มีเส้นผมเส้นด้ายพันนิ้วมือนิ้วเท้า ไม่มีมดแมลงไต่ตามตัว วางใจได้ว่าสักพักลูกจะหยุดร้องได้เอง ระหว่างนั้น สูดลมหายใจลึกๆ เตือนตัวเองเสมอว่า หากเขย่าตัวลูกรุนแรง ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่คุ้มกันอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กรมการแพทย์ เผยสถิติ มีเด็กที่เข้ารับการรักษาจากอาการทางสมอง โดนเขย่ากระทบกระเทือนถึงสมองถึง 10-15 คนต่อปี
 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ