ถอดรหัส 'Soft Power' โนรา เยือนกรุง หอศิลป์ กรุงเทพฯ
อำมฤทธิ์ ศิลปแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ถอดรหัส ‘Soft Power’ โนรา เยือนกรุง เผยแพร่วัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน เฉพาะถิ่นสู่เมืองกรุง ให้คนกรุงได้เรียนรู้ รู้จักวัฒนธรรมมรดกโลก อันเป็นสมบัติชาติไทย ที่หอศิลป์ กรุงเทพ 3-26 มี.ค. 2566
10 มี.ค. 2566 อาจารย์ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม)ชวนถอดรหัส Soft Power ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ โนรา เยือนกรุง ผ่าน นิทรรศการมรดก โนรา ตอน “โนรา เยือนกรุง” ว่า ถือโอกาสมาเยือนเมืองกรุง ร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน เฉพาะถิ่นสู่เมืองกรุง มาร่ายรำทำบทให้คนกรุงได้เรียนรู้ รู้จักวัฒนธรรมมรดกโลก อันเป็นสมบัติชาติไทย
อีกทั้งเปิดให้คนโนราที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้เข้ามาย้อนระลึกถึงเรื่องราว ซึมซับความรู้สึกโนราในแบบที่คนไทยต่างแดน (นครเวนิส) พากันเดินทางมาชื่นชมโนราไทยที่เดินทางไกลไปเยือนถึงนครเวนิส ร่วมกับมุมมองที่มีต่อโนราของศิลปินรับเชิญ วรรณี ชัชวาลทิพากร, ผศ.ไพโรจน์ วังบอน, ทรงไชย บัวชุม, ปรัชญา ลดาชาติ, ศุภธิดา ธรรมโหร, เจษฎา อำภา และบัญจภัสส์ ไชยสงวนธรรม
“เราพยายามที่จะทําให้เห็นว่าในทิศทางของงานศิลปะใหม่ร่วมสมัย เราสามารถหยิบจับเอาวัฒนธรรมหรือว่าอะไรก็ตามขึ้นมาร่วมกันแล้วก็สร้างขึ้นมาเป็นงานศิลปะ ชุดใดชุดหนึ่งได้ เช่น โนราห์เยือนกรุง เราพยายามนําเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อที่จะสร้างขึ้นมาแล้วก็ให้เดินต่อเป็นในลักษณะที่เป็นเรื่องของสากล”อาจารย์ อำมฤทธิ์ กล่าวและย้ำว่า
คือ จริงๆ โนรา ไม่ใช่การร่ายรํา ไม่ใช่การละเล่น แต่โนรา เป็นศาสตร์ที่มีความเชื่อความศรัทธาอยู่ในตัว ผู้รำ จะมีกระบวนการในการเรียนรู้ มีกระบวนการในการทํางานตั้งแต่ต้น ไปจนถึงท้ายสุด คือ โนรา อาจจะต้องฝึกหรือเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กๆ โนรามีครู ปักษ์ใต้ก็จะเรียกว่า ครูหมอโนรา
ดังนั้น ผู้ที่จะรําโนรา ต้องเรียนรู้ศาสตร์นี้ ต้องมีความศรัทธาก่อน และสามารถเรียนรู้ได้อย่างภาคภูมิใจ เพราะโนรา เป็นศาสตร์ในเรื่องของความศรัทธา เรื่องของความเชื่อ จะเห็นในบริบทของตัวโนรา มีตั้งแต่เรื่องราว เรื่องผู้จัดการแต่งตัว เรื่องพิธีกรรม อะไรต่างๆ รวมกันอยู่ ดังนั้นวันนี้เราจึงจัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง”โนราจากวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล”โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และการแสดง โนรา โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี2564)
อาจารย์ อำมฤทธิ์ กล่าวว่าเราเป็นส่วนเล็กๆ ทางด้านศิลปิน และศิลปะเป็นส่วนเล็กๆ ของ soft power หากพูดถึง soft power จริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันมันสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า หากเรารู้ เราเข้าใจทางด้านสื่อวัฒนธรรม เราก็สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ทําให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทําให้เกิดพลังต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว เป็นเรื่องของอะไรก็ตามแต่มันทําให้เกิดเม็ดเงินกับประเทศได้
“ศิลปะ วัฒนธรรม บางครั้งเราจะรู้สึกเหมือนว่าเป็นเรื่องแค่สวยๆงามๆ แต่จริงๆ ในความลึกซึ้งของความสวยงามอันนั้น เบื้องหลังก่อนที่เราจะได้เห็นการแสดง เราได้มีการคิด มีการหารือ มีอะไรมากมายที่จะกลั่นออกมา
“ศิลปะ แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็คือตัวหนึ่งที่จะเป็น Soft Power ในการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศได้ ซึ่งต้องอาศัยภาครัฐด้วยเช่นกัน คือ อาจจะต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น หรือว่ากําหนดเป็นนโยบายเป็นทิศทางที่ชัดเจน เพราะจะประโยชน์โดยตรงเพราะศิลปะ คือ Soft Power “
“โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของคนภาคใต้ในประเทศไทย ได้รับการประกาศให้เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จาก องค์การยูเนสโก (UNESCO, United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564
ต่อมา สงขลาพาวิเลียน มูลนิธิสงขลาเมืองเก่า โดยการสนับสนุนจากกลุ่มโรงพยาบาลศิครินทร์ ได้มีโอกาสเชื้อเชิญศิลปินโนรา ได้แก่ ควน ทวนยก, สถาพร ศรีสัจจัง, ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ และศิลปินร่วมสมัย ได้แก่ วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ, ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี, สุธี คุณาวิชยานนท์, วิทยา จันมา นำผลงานในหัวข้อ “มรดก โนรา” ไปจัดแสดงที่นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ทั้งสร้างปรากฏการณ์นำ “โนรา” การแสดงพื้นบ้านถิ่นใต้ขึ้นแสดงบนเรือกอนโดลาล่องตามคูคลองใจกลางกรุงเวนิส ท่ามกลางสายตานักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วทุกมุมโลก
จากนั้นยังร่วมนำมาต่อยอดสืบทอดโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ ก่อตั้ง “โนราบ้าน 168” โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ปี พ.ศ. 2564) เริ่มต้นเปิดสอนองค์ความรู้เกี่ยวกับโนรา ณ บ้านเลขที่ 168 ถ.นครใน จ.สงขลา เผยแพร่สู่เด็กและเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป
มาร่วมทำความรู้จักและเรียนรู้ นิทรรศการมรดก โนรา ตอน “โนรา เยือนกรุง” ด้วยกัน 3-26 มีนาคม พ.ศ.2566 เวลา 10.00-20.00 น.(เว้นวันจันทร์) ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร