"ดื่มเบียร์" เท่าไรดี มี-ไม่มี แอลกอฮอล์ แบบไหน บำรุงสุขภาพ สูง เช็คก่อน ดื่ม
คนรักสุขภาพ แต่เป็น นักดื่ม ต้องอ่าน "ดื่มเบียร์" เท่าไรดี มีหรือไม่มี แอลกอฮอล์ แบบไหน บำรุงสุขภาพ สูงสุด และ มีความสุข ที่สุด
คอเบียร์ ทั้งหลาย คงได้เฮกันไปบ้าง หลังจากมีผลวิจัยออกมายืนยันว่า การดื่มเบียร์ไม่ได้ให้แค่โทษเท่านั้น แต่ข้อดีของเบียร์ยังมีเพียบ แถมยังให้คุณประโยชน์มากมายอีกด้วย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล และปริมาณในการดื่มด้วย เพราะหากดื่มมากจนเกินไป ก็ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายของเราอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นควรดื่มแต่พอดี แต่ดื่มพอดีขนาดไหน ถึงจะเรียกว่าพอดี และ ดีต่อสุขภาพ แถม เบียร์ มี หรือ ไม่มีแอลกอฮอล์ บำรุงสุขภาพได้ดีมากกว่ากัน
"หมอดื้อ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มเบียร์ว่ารายงานในปี 2022 ซึ่งมีคำอุปมาว่า เบียร์วันละแก้วอาจช่วยไม่ให้ต้องพึ่งหมอ เหมือนกับที่เราเคยได้ยินได้ฟังว่า กินแอปเปิ้ลวันละลูก หมอไปไกล ๆ ได้เลย
ทั้งนี้ เป็นรายงานจากคณะผู้วิจัยจากประเทศโปรตุเกส ตีพิมพ์ในวารสาร Agriculture and food chemistry โดยเป็นการศึกษาวิจัยที่รัดกุม และมีตัววัด หรือประเมินโดยการวิเคราะห์จุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียในลำไส้ ว่ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นหรือไม่ จุดประสงค์ใหญ่ของการศึกษาชุดนี้ น่าที่จะเป็นการประนีประนอมกันหรือไม่ กับกระแสการต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์ ที่เริ่มออกมาว่าไม่ควรจะดื่มเลยแม้แต่จะน้อยนิดก็ตาม
และในอีกประเด็นหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ตามตำนานความเชื่อที่ว่า เบียร์นั้นดีต่อสุขภาพ ช่วยระบบต่าง ๆ จิปาถะ จริงไหม และถ้าเบียร์ที่ว่าดีนั้น เกิดดีจริง การที่มีแอลกอฮอล์เข้าไปอยู่ด้วย จะไปเจือจางความดีจนหายไป และกลายเป็นโทษอย่างเดียว
ตามปกติ ในคำแนะนำของสหรัฐฯ ในปี 2020 ถึง 2025 Dietary Guidelines for Americans การดื่มเบียร์ จะมีระดับของแอลกอฮอล์ที่สามารถบริโภคได้คือ วันละหนึ่งแก้ว หรือหนึ่งดริ้งก์ นั่นก็คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ 14 กรัมสำหรับผู้หญิง สำหรับผู้ชายนั้นสามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยถึงสองดริ้งก์ต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 28 กรัม โดยคิดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ชายเท่ากับสองกระป๋อง กระป๋องหนึ่ง เท่ากับ 330 ซีซี ในขนาดแอลกอฮอล์คือ 4% (ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งกระป๋องไป)
แต่ถ้าจะสั่งเป็นแก้ว เช่น หนึ่งไพท์ (pint) ปริมาณจะเยอะหน่อยในระบบอเมริกัน จะเท่ากับ 473 ซีซี ระบบอังกฤษเท่ากับ 568 ซีซี (ดังนั้นดูด้วย เวลาที่มีลดราคา เวลาแฮปปี้ happy hour เป็นไพท์ระบบไหน)
สำหรับหลักฐานทางประโยชน์ของเบียร์ หรือแอลกอฮอล์ มีอยู่หลายชิ้นพอสมควร ที่จะไปเพิ่มระดับของไขมันดี และลดระดับของไขมันเสีย มีการลดเลือดหนืดผ่านทางเกล็ดเลือด และบรรเทา การดื้ออินซูลิน แต่กระนั้นก็ตาม ประโยชน์ที่อาจจะพึงมีต่อเส้นเลือดในร่างกาย รวมกระทั่งถึงหัวใจและเบาหวาน จะถูกบดบังกับการที่ดื่มเบียร์แล้วอ้วนลงพุง ขี้เกียจ ไม่ออก กำลัง ร่วมกับกินอาหาร หรือกับแกล้ม ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง
ที่คณะผู้วิจัยพรรณนาไว้ก็คือ ในเบียร์นั้นมีโพลีฟีนอล จากฮอปมาก ซึ่งในการเพาะบ่มเบียร์นั้น การที่ใส่ฮอปไปเพื่อกลิ่นรสและความขม และก็ยังมีพรีนิลฟลาโวนอยด์ ที่ชื่อ แซงโธฮิวมอล (xanthohumol) โดยการศึกษาระดับพริคลินิก คือศึกษาในสัตว์ทดลองไม่ใช่คน ได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ โดยสารดังกล่าว น่าที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่เกี่ยวพันกับสารอนุมูลอิสระ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน และในระหว่างกระบวนการเพาะบ่ม เบียร์ แซงโธฮิวมอลจะมีการปรับโครงสร้างกลายเป็น ไอโซแซงโธฮิวมอล ซึ่งมีฤทธิ์ในทางเป็นประโยชน์เช่นกัน
ส่วนประกอบโพลีฟีนอลในเบียร์ เมื่อตกถึงลำไส้ จะมีผลในการปรับสภาพของจุลินทรีย์ ทั้งปริมาณ ชนิดและความหลากหลาย ถึงจนกระทั่งมีเบียร์หลายยี่ห้อ มีส่วนประกอบเป็นจุลินทรีย์ดีเจือปนเข้าไปด้วย โครงการศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง โดยมีประชากรศึกษาเป็นจำนวน มาก ได้แก่ Flemish Gut Flora Project แสดงให้เห็นว่าการดื่มเบียร์ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง จะส่งผลในการปรับสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เป็นตัวดี
เพราะฉะนั้นการมี หรือไม่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลต่างกันหรือไม่ โดยคณะผู้วิจัยแบ่งผู้ร่วมการศึกษาเป็นสองกลุ่ม โดยมีอายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี และไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบกระเพาะและทางเดินอาหาร รวมกระทั่งถึงโรคลำไส้หงุดหงิด และไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด เบาหวาน เส้นเลือดตีบที่ขา ไม่มีโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบ และไม่เคยใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงระยะเวลา 4 อาทิตย์ก่อนหน้า และไม่ใช้ยาระบายในช่วงสองอาทิตย์ก่อนหน้า และไม่ใช่เป็นคนติดเหล้าติดยา หรือสารเสพติดอย่างอื่น การวิจัยลงทะเบียนใน clinical trials NCT 03513432
ตลอดช่วงเวลาของการวิจัย การออกกำลังและสภาพการทำงานจะอยู่ในระดับเดิม รวมกระทั่งถึงชนิดและปริมาณของอาหารการกิน อาสาสมัครจะไม่ทราบว่าดื่มเบียร์ มี (5.2%) หรือไม่มีแอลกอฮอล์ (0%) โดยเบียร์ที่ใช้เป็นลาเกอร์เบียร์ (lager beer) โดยที่ทราบปริมาณของไอโซแซงโธฮิวมอล และแซงโธฮิวมอล ด้วยการตรวจ HPLC–DAD หลังจาก SPE extraction ทั้งก่อนและหลังการศึกษา ที่กินเวลา 4 อาทิตย์ จะมีการเก็บอุจจาระ และวิเคราะห์เลือดอย่างละเอียด (serum cardiometabolic markers) และส่วนประกอบของร่างกาย ด้วยเครื่อง In Body และบันทึกผล ลักษณะชนิดประเภทของอาหารการกินด้วย food frequency questionnaire การวิเคราะห์ชนิดและความหลากหลายของจุลินทรีย์ด้วยการเตรียม DNA libraries (V3 และ V4 regions) จนถึงการวิเคราะห์มาตรฐานตามแบบที่เราใช้กัน
นอกจากการที่ดูความหลากหลายของจุลินทรีย์แล้ว ยังทำการประเมินดัชนีของการอักเสบในลำไส้ และมีการรั่วของเยื่อบุผนังลำไส้หรือไม่ โดยการหา fecal alka line phosphatase activity ผลของการศึกษาในอาสาสมัครกลุ่มละ 11 คน ที่ติดตามเป็นระยะเวลาสี่อาทิตย์ พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีการเพิ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่เป็นตัวดี หรือมีประโยชน์มากกว่า 20 ชนิด และไม่พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในน้ำหนัก ปริมาณและการกระจายตัวของไขมันในร่างกาย รวมกระทั่งถึงดัชนีชี้วัด สภาพคาร์ดิโอเมตาบอลิกในเลือด
ผลของการศึกษานี้ แตกต่างจากรายงาน ในวารสารแอลกอฮอล์ในปี 2020 ทำที่อริโซนา สหรัฐฯ โดยได้ทำการศึกษาทั้งชายและหญิงที่อยู่ในเม็กซิโก อายุระหว่าง 21 ถึง 53 ปี โดยให้ดื่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์วันละ 12 ออนซ์ (1 ออนซ์ ประมาณ 30 ซีซี) กับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณ 4.9% เป็นเวลา 30 วัน โดยที่เห็นความดีงามในเฉพาะกลุ่มที่ดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยที่มีการเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์
ทั้งนี้ การศึกษาในปี 2020 ไม่ได้จำเพาะเจาะจง โดยอาสาสมัครไม่ได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทุกคน ซึ่งอาจอธิบายความแตกต่างของผลการศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ได้
บทสรุป การดื่มเบียร์ให้ได้ประโยชน์นั้น สำหรับคนที่สุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ได้มีโรคประจำตัว น่าที่จะดื่มได้ทั้งชนิดไม่มีหรือมีแอลกอฮอล์ และที่น่าสนใจก็คือ เบียร์ลาเกอร์อาจจะดีกว่า โดยที่มีคุณสมบัติทำให้เยื่อบุผนังลำไส้มีความแข็งแรงขึ้น แต่ข้อจำกัดที่คนดื่มเบียร์ทุกคนทราบก็คือ เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ดูรสชาติประหลาด และหัวหน้าทีมผู้วิจัยให้สัมภาษณ์ว่า รสชาติ "a bit wierd"
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วทางเมตาบอลิก อ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันสูง ไขมันผิดปกติ โรคทางเส้นเลือด ท่าทางน่าจะอยู่กับเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ดีกว่า ทั้งนี้ โดยถือผลของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่จะส่งผลก่อให้เกิดการอักเสบในลำไส้ ทะลุไปเข้าเลือดกระจายไปทั่วร่างกายแม้กระทั่งกระทบสมอง
ดังนั้น ถ้าอยากจะดื่มอย่างมีความสุข ก็ปรับสุขภาพให้เป็นปกติเร็วที่สุด จะได้รับอานิสงส์จากการดื่มเบียร์แอลกอฮอล์ได้
ที่มา : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote
https://www.komchadluek.net/entertainment/524524