ร่องรอยของ "คณะราษฎร" 2475 ที่หลงเหลืออยู่ที่วัดแคนอก
พาเที่ยววัดแคนอก นนทบุรี กับร่องรอยอะไรบ้างที่ "คณะราษฎร" ที่เหลือทิ้งไว้จากเหตุการณ์ "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475"
วัดวาอารามในประเทศไทย จำนวนมากมักมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และจารึกร่องรอยเอาไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง และเรียนรู้เหตุการณ์บ้านเมือง เช่นเดียวกับเรื่องราวของ "คณะราษฎร" 2475
"วัดแคนอก" ตั้งอยู่ในซอยนนทบุรี 23 หรือซอยวัดแคนอก ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2367 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดแคร่เบ็ญจ้น เป็นวัดรามัญนิกาย สร้างขึ้นโดยชาวรามัญที่อพยพมาอยู่บริเวณนี้ ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดแค เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ปี พ.ศ. 2457 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์บริเวณนี้ ได้ทรงเห็นว่าวัดแค มีอยู่ถึง 2 วัดในเมืองนนทบุรี จึงโปรดให้เรียกวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำว่า "วัดแคนอก" และวัดที่อยู่ในสวนว่า วัดแคใน
ปัจจุบัน "วัดแคนอก" มีอุโบสถ 2 หลัง อุโบสถหลังเก่า ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามเส้นทางสัญจรหลักในอดีต ลักษณะของโบสถ์เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8.50 เมตร ยาว 23.50 เมตร หน้าอุโบสถมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ มีมุขอยู่ทั้งด้านหน้าและหลัง มีประตูเข้าอุโบสถผนังละ 2 ช่องประตู หน้าบันเป็นไม้สลักลวดลายพฤกษา ดอกโบตั๋น โดยรอบมีซุ้มเสมาอยู่ทั้ง 8 ทิศ พระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ เล่ากันว่าเป็นสถานที่ประชุมวางแผนของ "คณะราษฎร"
ต่อมาอุโบสถหลังเก่าเกิดการชำรุดตามกาลเวลา ทางวัดจึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2533 โดยยังคงศิลปกรรมตามแบบอุโบสถหลังเก่า
อุโบสถหลังเก่านี่เอง ที่มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่อปี พ.ศ. 2475 "พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำ "คณะราษฎร" ได้นำคณะผู้คิดปฏิวัติมาวางแผนการที่ "วัดแคนอก"
"พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" เลื่อมใสคิดว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่สถิตของเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ และมาอธิษฐานจิตถวายต่อพระพุทธศาสนา ถ้าแม้กระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่ตรงนี้ให้เจริญ
เมื่อการปฏิวัติของ "คณะราษฎร"สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี "พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" ได้สร้างหอระฆังเป็นพุทธบูชา ด้วยมีความดำริว่า "เราเคยชนะคนอื่นด้วยหอกด้วยดาบ อีกไม่ช้านานหอกและดาบนั้นคงคืนสนองแก่เรา"
หอระฆังก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทรงมณฑป (ทรงดอกบัวตูม) หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา หอตรงกลางสร้างเป็น 2 ชั้น มีบันไดเหล็กเดินขึ้นชั้นบน ด้านล่างมีซุ้มรอบทั้ง 4 ทิศ เพื่อแก้เคล็ด และป้องกันอันตรายจากสิ่งร้ายต่างๆ ประดับป้ายหินอ่อนระบุว่าตระกูลพหลโยธินสร้าง พ.ศ. 2478 ซุ้มทิศเหนือบรรจุอัฐิ "พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา" (พจน์) นอกจากนี้ยังมีอัฐิบุคคลสำคัญในตระกูลพหลโยธินอีกจำนวนมาก
ต่อมาได้สร้างโรงเรียนให้แก่ชุมชนชื่อว่า โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 1 หรือ โรงเรียนวัดแคนอก ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 เดิมอาศัยศาลาการเปรียญของวัดแคนอกเป็นสถานที่เรียน ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2477 "คณะราษฎร" ได้ร่วมทุนกันจัดสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นเป็นอนุสรณ์ เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ได้รับการทำนุบำรุงจาก "คณะราษฎร"
สำหรับเหตุผลที่เลือก "วัดแคนอก" เป็นสถานที่ประชุมวางแผนของ "คณะราษฎร" นั้น เล่ากันว่าทำเลที่ตั้งวัดมีความเป็นมงคล ตั้งอยู่ในระยะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลทอดตัวตรง สามารถมองเห็นเกาะเกร็ดได้อย่างชัดเจน ที่ตั้งวัดแคนอกเปรียบเสมือนหัวมังกร เกาะเกร็ดเปรียบเสมือนท้องมังกร หัวมังมังกรมีความหมายถึงสัญลักษณ์นักบริหาร และการบัญชาการ วัดแคนอกอยู่ในระยะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลทอดตัวตรง มีความหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อกันของสมาชิกคณะราษฎรที่กำลังจะคิดวางแผนทำการที่ยิ่งใหญ่
ร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับ "คณะราษฎร" ใน "วัดแคนอก" และเรื่องเล่าท้องถิ่นของชาววัดแคนอกถึงผู้นำ "คณะราษฎร" 2475 นับเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกร่องรอยไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)