ไลฟ์สไตล์

ปั้นเยาวชนผ่านเวทีแข่งหุ่นยนต์เทคโนโลยี AI พัฒนาโลจิสติกส์ตอบโจทย์อนาคต

ปั้นเยาวชนผ่านเวทีแข่งหุ่นยนต์เทคโนโลยี AI พัฒนาโลจิสติกส์ตอบโจทย์อนาคต

11 ก.ย. 2566

"ซอฟต์แวร์พาร์ค" เวทีแข่งขันหุ่นยนต์ไร้การบังคับอัจฉริยะ ปั้นเยาวชนพัฒนาระบบโลจิสติกส์โลกอนาคต ตอบโจทย์ช่วยขนส่งสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทางตามความต้องการของลูกค้า ปีนี้ (ปี 2566) ทีม Robot A และ ทีม FRANNNNN คว้าแชม์ รับถ้วยรางวัลพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ

จบลงไปแล้วสำหรับ "ซอฟต์แวร์พาร์ค" หรือ "การแข่งขันหุ่นยนต์ไร้การบังคับอัจฉริยะ "Robo Innovator Challenge 2023 By Software Park Thailand" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เพื่อเฟ้นหาความสามารถพิเศษ (Talent) ที่ใช้การควบคุมระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving Car) แบบไร้การบังคับ และยังสามารถตอบโจทย์ระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยขนส่งสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทางตามความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย

 

 

 

 

บรรยากาศขณะการแข่งขัน

  • ผลการแข่งขัน "ซอฟต์แวร์พาร์ค" ประเภท Junior รุ่นอายุ 13-18 ปี ผลปรากฎว่า รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Robot A ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท และยังได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม อีก 1 รางวัล  ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 3,000 บาท 

 

 

 

 

หุ่นยนต์ประกอบไร้การบังคับอัจฉริยะ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม EasyKids-RoboSparkz  ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตรและเงินรางวัล 7,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีมโรงเรียนวารินชำราบ ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท และ รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ทีม Speedy ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 3,000 บาท

 

 

 

 

  • ผลการแข่งขัน "ซอฟต์แวร์พาร์ค" ประเภท Major รุ่นไม่จำกัดอายุ ช่วงชั้นและสังกัด ผลปรากฎว่า รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม FRANNNNN ได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 15,000 บาท และยังได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม อีก 1 รางวัล  ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 3,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม เมคคาห้อง 408 ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมหุ่นยนต์วิ่งมั่ว  ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 7,000 บาท และ รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม EasyKids-Janjam ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 3,000 บาท 

 

 

 

 

ประกาศและมอบรางวัลให้ผู้ชนะการแข่งขัน

 

 

 

 

"ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล" ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า การแข่งขัน "ซอฟต์แวร์พาร์ค" ปีนี้นอกจาก สวทช. จะสนับสนุนกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจผ่านการแข่งขันแล้ว ยังมุ่งสร้างเสริมการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ ตลอดจนสามารถถ่ายทอดนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อการพัฒนาประเทศ ผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและมีขีดความสามารถบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก

 

 

 

 


ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล

 

 

 

 

"ปีนี้เพิ่มเติมความเข้มข้นในการแข่งขัน โดยแบ่งออกเป็นประเภทจูเนียร์ ที่ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จตามโจทย์ที่กำหนด และประเภทเมเจอร์ ที่เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเสมือนจริง ในสถานการณ์จำลอง ให้สามารถต่อยอดใช้งานทางอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการได้ต่อไปในอนาคต" "ดร.ภัทราวดี" ระบุ

 

 

 

 

ลานการแข่งขัน ซอฟต์แวร์พาร์ค ปี 3 ณ ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต

 

 

 

 

"ซอฟต์แวร์พาร์ค" ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2563 ที่ได้รับการตอบรับและเป็นการปลุกกระแสการแข่งขันหุ่นยนต์อัจฉริยะ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligent (AI) แบบไร้การบังคับให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่สามารถก้าวข้ามกฎและกติกาเดิมๆ และให้เกิดความท้าทายมากยิ่งขึ้นนับเป็นก้าวเริ่มต้นของการพัฒนากำลังคนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างนวัตกรรมนำประเทศ

 

 

 


"ดร.ภัทราวดี" บอกอีกว่า "ซอฟต์แวร์พาร์ค" จัดระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมจัดงานขึ้นมีความภูมิใจกับความสามารถของเหล่าเยาวชนคนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกทีม ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าแข่งขันทุกท่าน ที่พิสูจน์ความสามารถและศักยภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ อย่างน้อยสิ่งที่ได้ประสบการณ์ล้ำค่าจากการแข่งขันครั้งนี้แน่นอน และขอให้ผู้ร่วมแข่งขันทุกท่านได้ถอดบทเรียนการแข่งขันครั้งนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อแก้โจทย์ภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การคิดค้นและออกแบบนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้กับสังคมและประเทศชาติ รวมไปถึงในเวทีการแข่งขันในระดับโลกอย่างต่อเนื่องสืบไป

 

 

 

 

 

เทคโนโลยีควบคุมหุ่นยนต์ไร้การบังคับอัจฉริยะ

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ การแข่งขัน "ซอฟต์แวร์พาร์ค" ปี 3 เป็นความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สวทช. โดย "ซอฟต์แวร์พาร์ค" ร่วมกับศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ SQUAT ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)