ไลฟ์สไตล์

1 ต.ค. "วันผู้สูงอายุสากล" ร่วมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของ ผู้สูงอายุ

1 ต.ค. "วันผู้สูงอายุสากล" ร่วมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของ ผู้สูงอายุ

01 ต.ค. 2567

1 ตุลาคม "วันผู้สูงอายุสากล" หรือ International Day of Older Persons ร่วมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของ ผู้สูงอายุ ในความสูงอายุยิ่งมีความสูงค่า

"วันผู้สูงอายุสากล" หรือ "International Day of Older Persons" ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค. ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) จากการประชุมขององค์การสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ ได้เคยจัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้สูงอายุ"

 

 

วัยสูงอายุ หรือ วัยชรา หมายถึง มนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต นิยามของผู้สูงอายุ แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่ามองผ่านความรู้สาขาใด เช่น ทางชีววิทยา ประชากรศาสตร์ การจ้างงาน และทางสังคมวิทยา เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้สูงอายุคือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในขณะที่ ประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา

 

 

"ผู้สูงอายุ" มีความหมายว่า คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

 

  • ผู้สูงอายุตอนต้น (Young old) คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง
  • สูงอายุวัยกลาง (Middle old) คือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง
  • สูงอายุวัยปลาย (Very old)อายุ 80 ปีขึ้นไป ขึ้นไปทั้งชายและหญิง

 

 

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

 

  • การสูญเสียฟัน
  • ผิวหนังเหี่ยวย่นเพิ่มขึ้น
  • สีผมเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือสีขาวหรือ เรียกว่า ผมหงอก
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง
  • การรับรู้ทางเสียงลดลง
  • ร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อยลง และใช้เวลามากขึ้น
  • การใช้ความจำน้อยลง
  • ความต้องการทางเพศลดลง หรือหมดไป
  • ความเสื่อมสภาพทรุดโทรมทางร่างกายและอวัยวะภายในร่างกาย เป็นเหตุให้ต้องเสียชีวิตในที่สุด (ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และสภาพร่างกายของแต่ละคน)

 

 

เบี้ยยังชีพคนชรา

 

ผู้สูงอายุ ซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ สัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้จัดให้อย่างเป็นประจำ จะได้รับการช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยแบ่งตามช่วงอายุแบบขั้นบันได ดังนี้
 

  • อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท
  • อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท
  • อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท

 

 

วันผู้สูงอายุสากล ปี 2567 

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี 2567 (International Day of Older Persons 2024) ภายใต้แนวคิด การสูงวัยอย่างมีศักดิ์ศรี ความสำคัญของการเสริมสร้างระบบการดูแล และสนับสนุนผู้สูงอายุทั่วโลก Ageing With Dignity The Importance Of Strengthening Care And Support Systems For Older Persons Worldwide

 

งานมหกรรมวันผู้สูงอายุสากล ประจำปี 2567 ถูกจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ ในความสูงอายุยิ่งมีความสูงค่า เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้เชี่ยวชาญชีวิต ผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่ผู้รอรับการสงเคราะห์ สามารถเป็นพลังของสังคมและเป็นส่วนสำคัญและเป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ด้วยการใช้ศักยภาพมาร่วมพัฒนาสังคม และมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ ภายใต้นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ของ กระทรวง พม. ได้แก่ 

 

  1. การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค 
  2. การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ 
  3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 
  4. การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชน 
  5. การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ 

 

ผู้สูงอายุทุกคนจะเป็นพลัง เป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระหรือผู้ไม่มีศักยภาพ 

 

กระทรวง พม. และเครือข่ายทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการดูแลผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในชุมชนของตนเองได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน และจะเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เป็นกลุ่มคนที่เป็นกำลังหลักคอยสนับสนุนคนรุ่นต่างๆ ในสังคมไทย

 

 

ข้อมูล : กรมกิจการผู้สูงอายุ