
แพทย์เตือน! ยิ่งเครียดผมยิ่งร่วงหนัก สัญญาณอันตรายที่ต้องรีบเช็ก!
หยุดความเครียดก่อนผมร่วงถาวร แพทย์เตือน! ยิ่งเครียดผมยิ่งร่วงหนัก เช็กด่วน! ผมร่วงไหนต้องรีบพบแพทย์ทันที
เชื่อว่าหลายคนคงเคยรู้สึกว่าทำไมผมร่วงเยอะจัง แค่หวีเบา ๆ หรือสระผมก็หลุดติดมือมาเป็นกำ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับทั้งภาระหน้าที่และความเครียดสะสมในแต่ละวัน เพราะจริง ๆ แล้ว ความเครียดเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เส้นผมหลุดร่วงเร็วกว่าปกติและนำไปสู่ “ภาวะผมร่วง” ที่จะมีอาการผมร่วงอย่างต่อเนื่อง และหากปล่อยไว้นานเกินไป รากผมอาจเสียหายถาวรและไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ส่งผลให้ผมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจนเป็น “ภาวะผมบาง”
ดังนั้นถ้าไม่อยากผมบางจนเสียความมั่นใจ วันนี้ พญ.กรผกา ขันติโกสุม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงมากผิดปกติและแชร์เทคนิคดูแลสุขภาพเส้นผมให้แข็งแรงขึ้น
“นอกจากความเครียดยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ภาวะผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia) เกิดจากความไวของรากผมต่อฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงหลังคลอด วัยหมดประจำเดือน หรือการใช้ยาคุมกำเนิดและยารักษาสิว ส่วนอาหารการกินก็เกี่ยว ถ้ามีการอดอาหาร ขาดธาตุเหล็ก วิตามิน D วิตามิน B12 หรือโปรตีน ก็อาจทำให้ผมอ่อนแอและหลุดร่วงง่าย
ในบางคนอาจมีพฤติกรรมทำร้ายเส้นผม เช่น นอนในขณะหัวชื้น หวีผมขณะผมเปียก มัดผมตึงเกินไป ใช้สารเคมี ไดร์หรือหนีบผมด้วยความร้อนสูงเป็นประจำ และยังมีโรคบางชนิดที่ทำให้ผมร่วงอย่างโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) และผื่นเซ็บเดิร์ม รวมทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเส้นผมเช่นกัน”
เช็กด่วน! ผมร่วงแบบนี้พบแพทย์ทันที
หลายคนที่กังวลเรื่องผมร่วงมักสงสัยว่าผมร่วงเยอะแค่ไหนถึงต้องไปหาหมอ เพราะปกติเส้นผมก็ร่วงอยู่ทุกวัน โดยทั่วไปผมของเราจะร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน หรือมากถึง 200 เส้นในวันที่สระผม แต่ถ้ามีอาการผมร่วงอย่างชัดเจน เช่น ผมติดหวีหรือหมอนเป็นจำนวนมาก หรือหล่นบนพื้นห้องน้ำมากผิดปกติ ก็ถือเป็นสัญญาณแรกที่ไม่ควรมองข้าม
“เบื้องต้นสามารถเช็กความเสี่ยงได้ด้วยการใช้นิ้วมือสางผมเบา ๆ หากมีผมหลุดมากกว่า 2 เส้นหลายครั้ง ก็ควรเข้าไปรับคำปรึกษาจากแพทย์แต่เนิ่น ๆ ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น ผมร่วงเป็นหย่อม คลำเจอจุดหัวล้าน มีอาการคัน แสบ หนังศีรษะแดง มีสะเก็ดหรือหนองร่วมด้วย ผมร่วงรวดเร็วภายใน 2–4 สัปดาห์ มีบริเวณหัวล้านขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด หรือประจำเดือนขาด ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที”