
จักษุแพทย์ไขข้อสงสัย! มองไม่ชัด ไม่ใส่แว่น เสี่ยง “สมองเสื่อม” จริงไหม?
มองไม่ชัด ไม่ใส่แว่น เสี่ยง “สมองเสื่อม” จริงไหม? จักษุแพทย์ผู้บุกเบิกการรักษาเลสิกคนแรกของไทย เตือนภัยสุขภาพ! ดูแลดวงตาให้ดี ก่อนพังทั้งสมองทั้งชีวิต!
“นพ.เอกเทศ ชันซื่อ” จักษุแพทย์ผู้บุกเบิกการรักษาเลสิกคนแรกของไทย ไขข้อสงสัยสายตายาวตามวัย ที่คนเจอเยอะมากที่สุดเมื่ออายุมากขึ้น สายตาไม่ดีทำสมองเสื่อมจริงไหม? และทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน พร้อมแชร์เทคนิคดูแลดวงตาก่อนที่จะพังไปทั้ง
อายุ 44 ปี ดูโทรศัพท์ห่างจากตัวเหมือนคนสายตายาว แบบนี้ปกติไหม ?
หมอเอกเทศ : พอดีเลยครับ จริงๆแล้วก็คือ ภาวะสายตายาวตามอายุ (presbyopia) มันจะค่อย ๆ เกิดขึ้น คือเราจะไม่สามารถมองใกล้มาก ๆ ได้เหมือนตอนเด็ก ๆ โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มเกิดที่อายุประมาณ 40 ต้น ๆ สำหรับผู้หญิง และ 40 กลาง ๆ สำหรับผู้ชาย จะเริ่มรู้สึกว่าไม่ชัดแล้วต้องยืดมือออกไปนิดหนึ่งถึงเห็นชัด และภาวะนี้จะดำเนินไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายอาจจะต้องมองไกลมาก ๆ ถึงจะชัด ตาเรามีระบบออโตโฟกัส กลไกที่เรียกว่า accommodation (การปรับโฟกัสของตา) ซึ่งใช้กล้ามเนื้อในการบีบตัวเพื่อโฟกัสภาพที่อยู่ใกล้ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อนี้จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ทำให้การปรับโฟกัสระหว่างไกลกับใกล้ช้าลง คือจะโฟกัสใกล้ได้ยากขึ้น และเมื่อมองไปไกลก็จะรู้สึกมัวก่อนแล้วค่อย ๆ ชัดขึ้น
อาการสายตายาวเกิดกับทุกคนไหม เราฝึกให้กล้ามเนื้อตาแข็งแรงขึ้นได้ไหม ?
หมอเอกเทศ : มันเป็นไปได้ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว มีปัจจัยอื่นด้วย เช่น ตัวแก้วตา (Crystalline Lens) ของเราเอง กล้ามเนื้อควบคุมแก้วตาที่อยู่ด้านใน เมื่ออายุมากขึ้น แก้วตาจะแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นไม่ว่ากล้ามเนื้อจะดีแค่ไหนก็ไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเลนส์ สรุปคือ ทุกคนต้องสายตายาวตามอายุ ในความหมายที่ว่าเดิมมองไกลได้ดี มองใกล้ได้ดี พออายุมากขึ้นจะมองใกล้แย่ลง บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นสายตายาว อย่างคนสายตาสั้นประมาณ 200 หากใส่แว่นก็จะมองไกลได้ มองใกล้ได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นและกล้ามเนื้อตาอ่อนแอลง การมองใกล้ขณะใส่แว่นมองไกลจะแย่ลง อย่างไรก็ตาม หากคนนั้นถอดแว่น ก็จะมองใกล้ได้ดี เพราะมีสายตาสั้นอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึงจุดโฟกัสของตาอยู่ที่ระยะใกล้โดยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อ คนกลุ่มนี้อาจไม่รู้สึกตัวว่าเป็นสายตายาว เพราะเมื่อต้องการมองใกล้ก็แค่ถอดแว่น
ทำเลสิกเพื่อแก้สายตาสั้น แต่สายตายาวก็แก้ได้แล้ว เทคนิคในการทำต่างกันอย่างไร ?
หมอเอกเทศ : เทคนิคเดียวกัน การผ่าตัดเลสิกเป็นการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตาก่อน ให้มันเป็นสองชั้นแล้วเปิดขึ้นมา โดยยังคงมีขั้วอยู่ จากนั้นใช้ Exmaler ซึ่งเป็นเลเซอร์ชนิดหนึ่งในตา เข้าไปเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาด้านล่าง แล้วจึงปิดกลับเข้าไป มันเหมือนกับการเจียรเลนส์คอนแทคเลนส์ สำหรับการแก้ไขสายตาสั้น จะเป็นการยิงเลเซอร์ตรงกลางให้เยอะกว่า เพื่อทำให้กระจกตาแบนลง หรือโค้งน้อยลง การแก้ไขสายตายาว เลเซอร์จะยิงออกข้าง ๆ มากกว่า ทำให้ตรงกลางโค้งมากขึ้น เลสิกสามารถแก้ได้ทั้งสายตายาวตามอายุและสายตายาวแต่กำเนิด
ถ้าสายตาไม่ดี จะทำให้สมองเสื่อมก่อนวัยได้จริงไหม ?
หมอเอกเทศ : การรับรู้สิ่งแวดล้อมของเราประมาณ 75% มาจากการมองเห็น หากไม่ได้รับการมองเห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่เด็ก สมองส่วนที่รับภาพจะพัฒนาได้ไม่ดี ทำให้ไม่รู้จักการมองเห็นภาพชัด เมื่ออายุเกิน 7-8 ขวบแล้ว ภาวะนั้นจะคงที่และไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก แม้จะแก้ไขสายตาแล้วก็อาจไม่ชัดเต็มที่ หรืออยู่ในระดับปานกลางพอใช้งานได้ ภาวะนี้เรียกว่า ตาขี้เกียจ (Lazy Eye) ซึ่งเกิดจากสมองไม่ได้รับภาพที่ชัดเจนในวัยที่กำลังพัฒนา เป็นแล้วเป็นเลย ควรตรวจตาตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ หากเด็กต้องหรี่ตาบ่อย ๆ ควรพาไปตรวจ ในวัยผู้ใหญ่มีงานวิจัยที่เชื่อมโยงการมองเห็นที่ไม่ดีกับการเป็นภาวะสมองเสื่อม (dementia) ซึ่งรวมถึงอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องสมองเสื่อมเป็นเรื่องที่นักประสาทวิทยาอาจตอบได้ดีกว่า แต่สำหรับเด็ก ๆ นั้น การมองเห็นมีผลต่อพัฒนาการของสมองอย่างแน่นอน
แนะนำเทคนิคการดูแลดวงตาและสายตาของเราอย่างไรให้เสื่อมช้าที่สุด ?
หมอเอกเทศ : การเสื่อมของตาเป็นไปตามธรรมชาติ แต่อย่าไปเร่งมัน อย่าขยี้ตาบ่อย บางคนอาจมีการนวดเพื่อช่วยให้ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรปรึกษาคุณหมอ หากตาแห้งสามารถหยอดน้ำตาเทียมได้ หากตาแห้งมากผิดปกติ ควรไปพบจักษุแพทย์ ควรตรวจกับจักษุแพทย์เป็นประจำ หากอายุน้อย ควรตรวจทุก 2 ปี หากอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง การตรวจที่สำคัญคือการตรวจต้อหิน (Glaucoma) ซึ่งแม้จะไม่ค่อยพบ แต่หากเป็นแล้วไม่รู้ตัว อาจทำให้ตาบอดได้อย่างถาวรและไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนต้อกระจก ส่วนเรื่องการพักสายตาจะช่วยให้ตาของเราใช้ทำงานได้ทนขึ้นและรู้สึกสบายขึ้น ไม่ได้ป้องกันความเสียหายถาวร มีหลักการพักสายตาที่เรียกว่า "20-20-20" คือ ใช้งาน 20 นาที พัก 20 วินาที โดยมองไปในระยะไกลเกิน 20 ฟุตขึ้นไป