
รู้ทันก่อนเสี่ยงเป็น "ไขมันพอกตับ" ภัยเงียบสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ
รู้ทันก่อนเสี่ยงเป็น "ไขมันพอกตับ" ภัยเงียบสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ เปิดสาเหตุป่วยปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ? บางรายป่วยรู้ตัวอีกทีระยะสุดท้ายรักษาไม่ทัน
ไขมันพอกตับ (Fatty liver disease) เป็นภาวะที่มีการสะสมไขมันในเซลล์ตับหรือเนื้อตับปริมาณมากกว่าปกติ โดยปกติแล้ว ตับจะมีไขมันสะสมในปริมาณเล็กน้อย ไม่เกิน 5–10% ของน้ำหนักตับ เมื่อมีไขมันมาสะสมในเซลล์ตับมากขึ้นจะส่งผลต่อการทำงานของตับ หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่โรคร้ายขึ้น โดยเฉพาะตับอักเสบ ตับแข็ง หรือแม้แต่มะเร็งตับ ซึ่งไขมันพอกตับ ทั้งยังไม่มีอาการแสดงชัดเจนในระยะเริ่มต้น กว่าจะรู้ตัวหรือเริ่มมีอาการ นั่นอาจบ่งบอกว่าโรคเริ่มลุกลามแล้ว
ไขมันพอกตับเกิดจากอะไร?
การสะสมของไขมันในเซลล์ตับ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักตามสาเหตุ คือ ไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease: AFLD)นอกจากแอลกอฮอล์แล้ว ไขมันพอกตับก็เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ได้ด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ
- โรคอ้วน อ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นผลจากระบบการเผาผลาญและจัดการน้ำตาลผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หรือคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
- ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล
- พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุล กินอาหารที่มีน้ำตาล แป้ง หรือไขมันสูงเป็นประจำ
- ผลข้างเคียงยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ และยาเม็ดคุมกำเนิด
- การติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- พันธุกรรมจากครอบครัว คนในครอบครัวมีประวัติเป็นไขมันพอกตับ มักจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
ไขมันพอกตับมีอาการไหม สังเกตอย่างไร
ไขมันพอกตับมักไม่มีอาการในระยะแรก พอโรคลุกลามหรือการทำงานของตับมีปัญหามากขึ้น ถึงจะเริ่มแสดงอาการ
- อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย หมดแรง
- คลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย รู้สึกปวดหน่วงตรงใต้ชายโครงขวา
- ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลดผิดปกติ
- มึนงง ความสามารถในการตัดสินใจและสมาธิลดลง
- ปัสสาวะและอุจจาระเปลี่ยนสี
- มีอาการดีซ่าน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง เพราะตับไม่สามารถขับสารสีเหลือง (บิลิรูบิน) ออกจากร่างกายได้