ไลฟ์สไตล์

ไทยยกระดับเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" หลัง 24 ประเทศระบาด ยอดคนเสียชีวิตพุ่ง!

ไทยยกระดับเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก" หลัง 24 ประเทศระบาด ยอดคนเสียชีวิตพุ่ง!

25 ธ.ค. 2567

กรมควบคุมโรค แนะ รพ.-หน่วยบริการทุกจังหวัดยกระดับเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก"ในคน เน้นซักประวัติ มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ยิ่งเคยสัมผัสสัตว์ปีก ฟรือฟาร์มโคนมให้รีบแจ้ง!

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2567 รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 - 1 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม 939 ราย เสียชีวิต 464 ราย ใน 24 ประเทศ และข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Centers for Disease Control and Prevention; U.S. CDC) ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2567 รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี 2567 จำนวน 64 ราย ใน 9 รัฐ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสโคนมที่ติดเชื้อ 39 ราย สัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ  22 ราย สัมผัสสัตว์อื่นๆ 1 ราย และไม่ระบุแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยในปี 2567 เพิ่มเติมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว

 

ไทยยกระดับเฝ้าระวัง \"ไข้หวัดนก\" หลัง 24 ประเทศระบาด ยอดคนเสียชีวิตพุ่ง!

 

“สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยเชื่อมโยงกับสัตว์ปีกติดเชื้อสัตว์ปีกป่วยตาย หรือโคนมที่ติดเชื้อ อีกทั้งยังมีการพบเชื้อในสัตว์ปีก นกธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกเพิ่มขึ้น แม้ไทยไม่มีรายงานโรคในคนตั้งแต่ปี 2549 แต่ปัจจัยเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ การเดินทางระหว่างประเทศ และการเลี้ยงสัตว์ปีกยังคงสูง ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมภายใต้ความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) มาอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและจุดคัดกรองโรค โดยได้สั่งการและให้คำแนะนำหน่วยบริการในทุกจังหวัดยกระดับการเฝ้าระวังในคน โดยเน้นการซักประวัติเสี่ยง ณ จุดคัดกรองโรคที่โรงพยาบาล ติดป้ายแจ้งเตือนผู้มารับบริการ หากผู้ป่วยที่มีอาการไข้ และมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือฟาร์มโคนมให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ปศุสัตว์และสัตว์ป่า ถือเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงจากการปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วยและอาจสัมผัสเชื้อโดยตรง