ทำความรู้จัก โรคย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร สาเหตุของโรค สามารถป้องกันได้อย่างไร
ทำความรู้จัก "โรคย้ำคิดย้ำทำ" คืออะไร? อีกหนึ่งโรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม พร้อมเปิดสาเหตุของโรค สามารถป้องกันได้อย่างไร
โรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-Compulsive Disorder หรือ OCD เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างชัดเจน ซึ่งมีอาการแสดงหลักๆ คือ อาการย้ำคิดและอาการย้ำทำ อาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน หรือต้องใช้เวลาจัดการกับอาการมากจนรบกวนกิจวัตรประจำวัน อาชีพการงาน การเข้าสังคม หรือกระทบความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่น
ทางด้าน นายแพทย์อินทณัฐ ผู้สันติ จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ ได้มาอธิบายเรื่องโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) คืออะไร โดยแยกออกเป็น
อาการย้ำคิด (Obsession) หมายถึง ความคิด ความเห็น ความอยากกระทำ มโนภาพต่างๆ ซึ่งมักเป็นในทางลบ หรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างมากและเกิดขึ้นในใจซ้ำๆ แบบควบคุมไม่ได้
อาการย้ำทำ (Compulsion) หมายถึง พฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออาการย้ำคิด เพื่อลดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ทรมานใจ เช่น ผู้ป่วยรู้สึกว่ามือของตนเองสกปรก ต้องล้างมือเพื่อลดความกังวลที่มือของตนเองสกปรกส่วนมากผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดหรือการกระทำของตนเองนั้น มีความไม่สมเหตุสมผล ไม่รู้ว่าตนเองคิดหรือทำซ้ำๆ ไปเพื่ออะไร ทั้งนี้ อาการย้ำคิดย้ำทำ เกิดขึ้นโดยผู้ป่วยรู้สึกตัวดีตลอด และไม่ได้เกิดจากอาการหูแว่วหรือหลงผิดในลักษณะที่ถูกบังคับทางความคิดและการกระทำเหมือนอย่างในกลุ่มโรคจิต
สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำ
1. พันธุกรรม มีการศึกษาเทียบโอกาสการเกิดโรคในกลุ่มทายาทในตระกูลของคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ จะสูงกว่ากลุ่มควบคุมประมาณ 3-5 เท่า (แต่การศึกษาไม่ได้แยกปัจจัยอื่นที่อาจมีอิทธิพลต่อผลของการศึกษา เช่น การเลี้ยงดู หรือวัฒนธรรมประเพณี) และมีการศึกษาเทียบโอกาสการเกิดโรคจะเกิดในคนที่เป็นแฝดไข่ใบเดียวกันมากกว่าแฝดไข่คนละใบ
2. สารสื่อประสาทหรือสารเคมีในสมอง มีการศึกษาที่สนับสนุนในเรื่องการเสียสมดุลของสารสื่อสารประสาทที่ชื่อว่า “Serotonin” เกี่ยวข้องกับอาการย้ำคิดย้ำทำ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบว่าการดเสียสมดุลของ Serotonin ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร แต่ยาที่มีผลต่อระดับ Serotonin ในสมองสามารถใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ
3. กายวิภาคทางสมอง จากการศึกษาการทำงานของสมองของผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้พบการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสมองส่วน Orbitofrontal Cortex, Caudate และ Thalamus ทำให้เกิดการตั้งสมมติฐานการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำมีความเกี่ยวข้องกับวงจรสมองที่เรียกว่า Coticostriatal Pathway
4. ปัจจัยทางความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำมีแนวโน้มประเมินผลร้ายจากความคิดที่ผุดขึ้นมาของตนเองมากเกินไป ไม่สามารถอดทนต่อความกังวลที่เกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดการแก้ไขความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไม่เหมาะสม เช่น การย้ำทำ หรือการหลบเลี่ยง อันเป็นสิ่งที่ยิ่งกระตุ้นให้ความคิดผุดขึ้นมาบ่อยมากขึ้น
5. ทฤษฎีพัฒนาการทางด้านจิตใจ จริงๆ รายละเอียดของทฤษฎีค่อนข้างยากที่จะทำความเข้าใจ ดังนั้นจึงขออนุญาตอธิบายคร่าวๆ ว่า การเลี้ยงดูที่มีลักษณะเข้มงวดกวดขันมากเกินพอดี อาจสามารถส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในใจ ได้แก่ วิตกกังวล ก้าวร้าว เคลือบแคลงใจ และลังเลใจ เมื่อเกิดความขัดแย้งในใจขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติของใจจะมีกลไกป้องกันทางจิตที่พยายามประนีประนอมความขัดแย้งนี้ ซึ่งนำมาสู่การแสดงออกของอาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้น
โรคย้ำคิดย้ำทำสามารถป้องกันได้ไหม อย่างไร
สำหรับความรู้และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำได้ แต่ถ้าหากเคยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำแล้ว การรักษาโดยเฉพาะการฝึกฝนทำ ERP อย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยให้มีความมั่นใจในการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำได้ดีขึ้น
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
แนะนำให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับโรคที่เป็น อย่าปฏิเสธในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ถ้าป่วย ก็ไปรักษาด้วยวิธีกินยาและจิตบำบัดกับจิตแพทย์ ความทุกข์ทรมานโรคจะลดลง คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น แต่หากไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ปล่อยให้อาการกำเริบ ก็ส่งผลเสียต่อตัวเองและความสัมพันธ์ที่มีต่อคนรอบข้าง ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น