อาหารเป็นพิษส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากนักและมักหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยในระหว่างนี้ เราสามารถรับประทานยาที่หาซื้อได้เองควบคู่ไปกับการดูแลตนเองที่บ้าน เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้หายดีขึ้นได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้อง
ทำความรู้จักกับอาหารเป็นพิษ
การรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ โดยมีเชื้อหลายชนิดด้วยกันที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ เช่น เชื้อซาลโมเนลลา เชื้ออีโคไล เชื้อคลอสติเดียม โบทูลินัม เชื้อลิสเทอเรีย เชื้อชิเกลล่า และเชื้อโนโรไวรัส เป็นต้น
ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษแต่ละรายจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียเป็นน้ำหรือท้องเสียปนเลือด ร่วมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดเกร็งหน้าท้อง เบื่ออาหาร อ่อนแรง ปวดศีรษะ มีไข้ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจปรากฏขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหรือภายใน 1 วันหลังรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แต่บางคนก็อาจทิ้งช่วงนานเป็นสัปดาห์
วิธีแก้อาหารเป็นพิษด้วยตัวเอง
แม้อาการจากอาหารเป็นพิษจะดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 วัน แต่การดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วยก็เป็นอีกทางที่อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีได้เร็วขึ้น และยังปลอดภัยจากภาวะขาดน้ำที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการเกิดขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอร่วมกับการดื่มน้ำ น้ำซุป หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่หลังการอาเจียนหรือท้องเสีย
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน น้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีฟอง รวมถึงงดรับประทานอาหารรสจัดหรือของทอด
- หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วควรรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยได้ง่ายและมีไขมันน้อย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม กล้วย ขนมปังปิ้ง แครกเกอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจแก้อาการอาหารเป็นพิษเบื้องต้นได้ด้วยการรับประทานยาสามัญประจำบ้านที่มีราคาย่อมเยาและหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
ยาคาร์บอน หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า ถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) ซึ่งมีลักษณะเป็นผงถ่านสีดำบรรจุในรูปแบบยาผง ยาเม็ด หรือยาแคปซูล โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ช่วยลดการดูดซึมสารพิษหรือสารเคมีไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย รักษาภาวะอาหารเป็นพิษ อาการท้องเสีย ท้องอืด และท้องเฟ้อด้วย ถือได้ว่ามีความปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่ายาปฏิชีวนะ และแม้ผู้ใช้ยาอาจจะมีผลข้างเคียงอย่างอุจจาระเป็นสีดำ แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
อย่างไรก็ตาม หากวิธีแก้อาหารเป็นพิษข้างต้นใช้ไม่ได้ผล อาการป่วยยังคงอยู่หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอาเจียนต่อเนื่องหรืออาเจียนเป็นเลือด ควบคุมการถ่ายไม่ได้ อุจจาระปนเลือด ท้องเสียมากกว่า 3 วัน ปวดเกร็งหน้าท้องอย่างรุนแรง มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส อ่อนแรง มองเห็นหรือพูดคุยได้ลำบาก มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำอย่างปากแห้ง อ่อนเพลีย ปัสสาวะเพียงเล็กน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด เพราะผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการจากแบคทีเรียบางชนิดอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ จึงจะหายเป็นปกติ
ข้อมูลจาก pobpad
ข่าวที่เกี่ยวข้อง