
ทำไมถึงเป็น "โรคริดสีดวงทวาร" อะไรคือพฤติกรรมเสี่ยงและวิธีป้องกัน
ทำไมถึงเป็น! โรคริดสีดวงทวาร ปัญหากวนใจโรคใกล้ตัวที่รักษาหายได้โดยไม่ต้องกลัวเจ็บ กลุ่มไหนมีความเสี่ยง ป้องกันได้อย่างไร
ริดสีดวงทวาร อีกหนึ่งโรคชนิดหนึ่งที่สร้างความกังวลใจและรบกวนการใช้ชีวิตของคนไข้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บปวดที่รบกวนทางกาย ความอายที่จะมาพบแพทย์ และกลัวในการรักษา แต่ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการรักษามากมายที่ทำให้คนไข้หายขาด เจ็บตัวน้อยและฟื้นตัวได้ไว
สาเหตุที่เป็นโรคริดสีดวง
ริดสีดวงเป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่มีการบวมพองยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน เกิดบริเวณเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก และริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่างมีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก
ริดสีดวงทวาร..ใครๆ ก็เป็นได้
โรคริดสีดวงทวารเกิดได้กับทุกวัย กลุ่มเสี่ยงสำคัญ คือ ผู้ที่ตั้งครรภ์ เป็นโรคอ้วน แต่ส่วนใหญ่มักจะพบในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ไม่ค่อยพบบ่อยในวัยรุ่น (โดยเฉพาะถ้าเป็นริดสีดวงภายใน)
ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสียถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
- อุปนิสัยเบ่งอุจจาระอย่างมากเพื่อพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายให้ออกไป
- อุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน เช่น อ่านหนังสือขณะถ่ายอุจจาระ
- กรณีไม่ทราบสาเหตุ..อาจพบว่าบุคคลที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ
สำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร หากมีอาการเรื้อรังหรือเป็นหนัก หลอดเลือดจะบวม บางรายเห็นหัวริดสีดวงโผล่ออกมาจากทวารหนัก เป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ซึ่งก้อนนี้จะทำให้เกิดอาการปวดและเจ็บ อาจจะทำให้เกิดอาการคัน กลั้นอุจจาระไม่อยู่ และพบเลือดออกจากทวารหนัก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
วิธีป้องกัน
สามารถป้องกันได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงและดูแลสุขภาพ ดังนี้ ไม่ควรนั่งแช่หรือนั่งถ่ายอุจจาระนาน ๆ ดูแลสุขภาพไม่ให้น้ำหนักตัวเกิน ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ฝึกร่างกายให้ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา อย่ากลั้นอุจจาระ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพยายามเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ หากพบว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง แนะนำให้ไปโรงพยาบาล