เข้าใจผู้สูงวัย อายุมากขึ้น โมโหง่าย
ผู้สูงอายุเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง อารมณ์และความรู้สึก จะเปราะบางได้ง่าย จึงจำเป็นต้องปรับตัวและยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ผู้สูงอายุ โมโหง่าย หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า เป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์ที่ส่งผลไปถึงจิตใจ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เมื่ออายุมากขึ้นแล้ว การควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ จะลดน้อยถอยลง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจจะดูรุนแรง ไม่สมเหตุสมผลได้ ถ้าเหวี่ยงมากเกินไป แม้จะไม่เกิดอาการหวาดระแวงหรือภาพหลอน ก็สุ่มเสี่ยงโรคภัย มีความเสี่ยงของโรคสมองเริ่มมากขึ้น
อารมณ์ฉุนเฉียวก้าวร้าว สัญญาณโรคอัลไซเมอร์
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ อธิบายถึงโรคอัลไซเมอร์ ว่า โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในระบบประสาท ส่งผลให้เกิด การทำลายเซลล์ประสาทและเกิดสมองฝ่อ พบได้บ่อยในสูงวัยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มีปัญหาความจำบกพร่อง ถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จำวัน เวลา และสถานที่ของเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้
- เมื่ออาการของโรคมากขึ้นผู้ป่วยอาจเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน
- มีปัญหาพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น หลงผิด หรือมีอาการหลอน
สำหรับการรักษาปัจจุบันจะเน้นการรักษาทางยา ชะลอให้ความจำเสื่อมถอยช้าลงเล็กน้อย ให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น การปรับพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพความจำ อีกทั้งรักษากายและใจโดยรวมให้ดี
หงุดหงิด ฉุนฉียว เสี่ยงซึมเศร้า
นอกจากอาการโมโหง่าย หงุดหงิด อาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ ก็ยังมีโรคทางจิตใจที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน นั่นคือ ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) โดยผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า อาจเกิดตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ หรือเพิ่งเกิดหลังจากที่เข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งสามารถสังเกตอาการ ได้ดังนี้
- ไม่ค่อยพูด ไม่อยากพูดคุยกับใคร นิ่งเงียบ
- เบื่ออาหาร รับประทานน้อยลง
- เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง ไม่สนใจทำกิจกรรม
- นอนมาก หรือมีอาการนอนไม่หลับ
- ผู้สูงอายุ โมโหง่าย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน
วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้มีความสุข
ผู้สูงอายุควรโอนอ่อนผ่อนตามความเห็นลูกหลานและคิดเรื่องต่างๆ ด้วยความยืดหยุ่น พยายามหากิจกรรมและงานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลินและ มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำอาหาร ออกกำลังกาย ตลอดจนเดินทางท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์กับผู้อื่นเพื่อพูดคุยหรือปรับทุกข์ นอกจากนี้ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดควรใส่ใจและสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ เพียงเท่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุและทุกคนในครอบครัวมีความสุขอย่างแท้จริง
ที่มา hfocus.org
ข่าวที่เกี่ยวข้อง