กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงกรณีกินมากแต่ร่างกายไม่ถ่ายออกมา เรียกว่า ภาวะอุจจาระตกค้าง สำหรับภาวะอุจจาระตกค้าง จะมีหลายอาการประกอบกันดังนี้
- ปวดท้อง
- ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีเลือดปนอุจจาระเนื่องจากริดสีดวง
- รับประทานอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร
- เรอเปรี้ยว ผายลมบ่อย
- ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ
- ปวดหลังส่วนล่าง หายใจไม่สะดวก เพราะอุจจาระและลมในช่องท้องมากจนไปดันกะบังลม
วิธีป้องกัน ภาวะอุจจาระตกค้าง
1.ฝึกขับถ่าย ต้องฝึกให้เป็นเวลาทุกวัน
2.ฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระ หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่าย แต่ร่างกายต้องเบ่งถ่ายอุจจาระให้ถูกวิธี ซึ่งทำได้โดยนั่งบนโถชักโครก โค้งตัวไปข้างหน้าเพียงเล็กน้อย ใช้มือกดท้องด้านซ้ายล่างเอาไว้ วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นลำไส้เคลื่อนตัวได้ดี แต่การฝึกขับถ่าย ร่างกายต้องผ่อนคลาย ไม่ควรเกร็ง
3.ไม่กลั้นอุจจาระ ควรหาห้องน้ำและขับถ่ายทันทีที่ปวด การพยายามเบ่งอุจจาระตอนที่ยังไม่ปวดท้อง การเบ่งอุจจาระแรงจะเพิ่มแรงดันในลำไส้ เมื่อทำบ่อย ๆ ลำไส้โป่งพอง อาจเกิดริดสีดวงทวาร
4.ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย แนะนำให้ดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน โดยจิบระหว่างวัน
5.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกผัก ผลไม้ ที่มีกากใยสูง เพราะไฟเบอร์มีประโยชน์ต่อการขับถ่าย ช่วยลด ภาวะอุจจาระตกค้าง ได้
6.เสริมด้วยอาหารกลุ่มโปรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว แต่ควรเลือกชนิดที่มีน้ำตาลน้อย
7.ออกกำลังกาย นอกจากจะได้ความแข็งแรงของร่างกายแล้ว ยังช่วยให้ลำไส้ได้บีบตัว กระเพาะอาหารย่อยดีขึ้น
อาการท้องผูก แตกต่างจาก ภาวะอุจจาระตกค้าง
นอกจาก ภาวะอุจจาระตกค้าง อาการท้องผูกก็มีลักษณะอาการที่ใกล้เคียง และต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เกิด สำหรับอาการท้องผูกนั้นพบได้บ่อย เมื่อลำไส้บีบตัว หรือแม้แต่เคลื่อนตัวช้าตอนที่ย่อยอาหาร จนไม่อาจขับถ่ายอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหาร
- การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการขับถ่ายนั้นน้อยกว่าที่เคยเป็น
- อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก
- รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก ถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
- ถ่ายอุจจาระออกยาก ต้องใช้แรงเบ่ง
- มีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ
- อาจพบอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง
หากพบว่ามีลักษณะอาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดติดต่อกัน 3 เดือน จากแค่อาการท้องผูกธรรมดาจะกลายเป็นท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งอาการท้องผูกเรื้อรังจะรุนแรงมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคริดสีดวงทวาร เกิดแผลแตกรอบ ๆ ทวารหนัก และเกิดอาการลำไส้อุดตัน
สาเหตุท้องผูก
- อั้นอุจจาระบ่อย อั้นอุจจาระเป็นเวลานาน
- ไม่รับประทานอาหารที่มีกากใย หรือรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไม่เพียงพอ
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- การรับประทานยาบางชนิดก็มีผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน เช่น ยาระงับปวด ยาลดกรด ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก ยาขับปัสสาวะ
- ดื่มน้ำน้อย
- น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป
- ปัญหาความเครียด มีปัญหาทางด้านจิตใจ
- อาการท้องผูกป้องกันได้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง โดยเฉพาะผัก ผลไม้และธัญพืช
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 – 10 แก้วต่อวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน
- ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน
หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้การรักษาด้วยการใช้ยาแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น เส้นใยหรือไฟเบอร์ มีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดน้ำได้ดี อุจจาระนิ่ม ถ่ายออกได้ง่าย ยาระบายกลุ่มกระตุ้น กระตุ้นจังหวะการบีบตัวของลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น ยาระบายกลุ่มออสโมซิส ช่วยออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น อุจจาระจึงไม่แห้งและแข็ง ลดปัญหาการขับถ่ายออกลำบาก ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ ยาเหน็บ และการสวนอุจจาระ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง