ชานมไข่มุก อีกหนึ่งเมนูเครื่องดื่มของหวานที่ได้รับความนิยมมาตลอดแบบไม่แผ่ว และมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป ชานมไข่มุกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัยมากขึ้น ตั้งแต่เด็กไปจนผู้สูงอายุต่างก็นิยมชอบเครื่องดื่มชนิดนี้ ด้วยรสชาติที่หอมมันและหวานอร่อยผสมกับไข่มุก ใครก็ต้องอดใจไม่ไหว ซึ่งจากสถิติพบว่า ประเทศไทยบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้มากถึง 6 แก้วต่อสัปดาห์ ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่มีประชากรมากกว่าเราเสียอีก ชานมไข่มุก 1 แก้ว ให้พลังงาน 240-360 กิโลแคลอรี่ หากรับประทานมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในวัยเด็กผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะชานมไข่มุกมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณที่สูงมาก นอกจากนี้ยังมีน้ำเชื่อม ครีมเทียม ถึงแม้จะดื่มเพียงแค่แก้วเดียวต่อวัน ก็สามารถเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุใดเครื่องดื่มชนิดนี้จึงเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน แต่หารู้ไม่ว่าภายใต้ความอร่อยที่พวกเราคลั่งไคล้อยู่นั้นกลับแฝงไปด้วยโทษมหันต์ตามมาได้
ชานมไข่มุกคืออะไร
ชานมไข่มุก คือเครื่องดื่มชนิดเย็น รสชาติหวาน มีส่วนประกอบ น้ำชา นม หรือชาผลไม้ ส่วนไข่มุกทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ผสมโกโก้ และน้ำตาลทรายปั้นเป็นเม็ดเล็ก มีจุดกำเนิดจากประเทศไต้หวันช่วงทศวรรษที่ 1980
ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ชานมไข่มุก หากพิจารณาตามส่วนประกอบจะเห็นว่าน้ำตาลและแป้งจากไข่มุก รวมถึงไขมันจากนมหรือครีมเทียม ล้วนแต่เป็นสารให้พลังงานทั้งสิ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดพลังงานส่วนเกินกว่าที่ร่างกายต้องการต่อวัน โดยชานมไข่มุก 1 แก้วนั้นอาจมีพลังงานสูงได้ตั้งแต่ 157 – 769 กิโลแคลอรี เทียบเท่าอาหาร 1 มื้อ เมื่อเรารับประทานจากอาหารปกติในแต่วันด้วยแล้ว ก็จะสะสมจนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากนี้ในชานมไข่มุก 1 แก้ว มีสารอาหารอื่นอย่างวิตามินและแร่ธาตุน้อยมากซึ่งอาจทำให้ได้รับสารอาหารต่อวันไม่เพียงพอ
ทำร้ายร่างกายอย่างรอบด้าน
แม้ว่าน้ำตาลจะเป็นสารอาหารให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่การได้รับน้ำตาลในปริมาณมากย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน หลากหลายยี่ห้อที่จำหน่ายในประเทศไทย 1 แก้วนั้นมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 16 กรัม (4 ช้อนชา) ถึง 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันหรือ 6 ช้อนชาหลายเท่าตัว ซึ่งการได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป น้ำตาลจะสะสมเป็นรูปไขมันที่ตับและอวัยวะอื่น ๆ ได้ และการรับประทานน้ำตาลโดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสที่สูงส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่อเลปติน (Leptin Resistance) ทำให้หิวตลอดเวลา และอยากรับประทานมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้การควบคุมอารมณ์ต่ำลง อารมณ์แปรปรวน และเกิดอาการของภาวะซึมเศร้าได้
ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ
จากข้อที่กล่าวมา การเสียสมดุลของพลังงานเป็นเวลานานและการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไป เหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการอักเสบและสะสมมวลไขมันในร่างกาย จนเกิดโรคเรื้อรังตามมาในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มโรคสำคัญที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี
กินชานมไข่มุกอย่างไร ให้ไม่เสี่ยงโรค
1. เลือกแก้วขนาดที่เล็กที่สุด รับประทานชานมไข่มุกแค่พอประมาณ เพราะ ชาไข่มุกเป็นเครื่องดื่มแคลอรีสูง ไม่ใช่เป็นอาหารหลัก
2. ลดระดับความหวานให้ต่ำที่สุด ชานมไข่มุกรสชาติหวานปกติมักจะมีปริมาณน้ำตาลเยอะอยู่แล้ว ทำให้การบริโภคน้ำตาลในแต่ล่ะวันเกินกว่า 6 ช้อนชาได้ ดังนั้นควรลดระดับน้ำตาลที่ละขั้น จนถึงขั้นไม่หวานเลย จะยิ่งดี
3. ลดอาหาร ในวันที่รับประทานชานมไข่มุก ควรลดปริมาณอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ในวันที่รับประทานชานมไข่มุก เพื่อไม่ให้ได้รับปริมาณน้ำตาล และไขมันเลว (LDL) จนมากเกินไป
ความอร่อยของชาไข่มุก ที่มาพร้อมกับโรคร้าย โดยเฉพาะในวัยเด็ก เพราะนอกจากโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือดแล้ว เด็กที่บริโภคชานมไข่มุก อาจจะเกิดอุบัติเหตุ เช่น ไข่มุกติดคอได้ อีกทั้งน้ำตาลสามารถทำให้ฟันผุได้อีกเช่นกัน ดังนั้นการบริโภคชานมไข่มุกสามารถรับประทานได้ให้ถูกวิธี และไม่บ่อยครั้ง จากผลเสียที่กล่าวมา เราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดื่มเมนูชานมไข่มุกให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นได้โดยลดระดับความหวานลงลดความถี่การรับประทานลงจากเดิม เปลี่ยนเป็นท็อปปิ้งอื่น ๆ เช่น ไข่มุกบุก เฉาก๊วย วุ้นว่านหางจระเข้ หรือไม่ใส่เลยลดขนาดของแก้วลงจากขนาดใหญ่เหลือขนาดเล็ก
ข้อมูลอ้างอิง-bdmswellness
ข่าวที่เกี่ยวข้อง