Lifestyle

'นิ่วในถุงน้ำดี' จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่และผ่าตัดอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

80% ของผู้ป่วยที่มีโรคนิ่วในถุงน้ำดี จะไม่มีอาการ  แล้วเราจะทราบได้อย่างไร...ว่าเรามี "นิ่วในถุงน้ำดี"  เป็นต้องผ่าตัดมั้ย และผ่าตัดอย่างไร

ปัจจุบันบนโลกของเรามีผู้ป่วยเป็นโรค "นิ่วในถุงน้ำดี" ถึง 20%  ของคนทั่วไป โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอยู่ที่ประมาณ 6% และมีแนวโน้มในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราได้อิทธิพลการรับประทานอาหารตามชาวตะวันตก ทำให้มีโอกาสเกิดนิ่วชนิดคลอเรสเตอรอลเพิ่มขึ้น แต่กว่า 80% ของผู้ป่วยที่มีโรคนิ่วในถุงน้ำดี จะไม่มีอาการ!!  แล้วเราจะทราบได้อย่างไร...ว่าเรามีนิ่วในถุงน้ำดี 
 

ผู้ป่วยที่เป็นโรค "นิ่วในถุงน้ำดี" ที่มีอาการน้อย มักจะรู้สึกจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ไปจนถึงใต้ชายโครงขวา และมักเป็นหลังรับประทานอาหารมันๆ หรืออาหารมื้อใหญ่ๆ เป็นครั้งๆ ละประมาณ 30-60 นาทีและหายได้เอง แต่ถ้าหากมีอาการมากขึ้นจะรู้สึกปวดร้าวจากท้องไปที่หลัง หรือสะบักข้างขวาได้ บางคนอาจจะปวดมากจนไม่สามารถทานอาหารได้เลย และในผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว จะเริ่มปวดท้องรุนแรงตลอดเวลา มีไข้สูง อาจจะถึงขั้นตัวเหลืองตาเหลืองได้ ในกรณีนี้ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ส่วนในกลุ่มที่ไม่มีอาการมักจะตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือพบเจอจาการตรวจอัลตราซาวน์ หรือ ทำ CT scan


"นิ่วในถุงน้ำดี" จำเป็นต้องผ่าตัดมั้ย และผ่าตัดอย่างไร
หลายคนมักจะสงสัยว่า การผ่าตัดเอาแค่นิ่วออกใช่มั้ย หรือ ถ้าไม่ผ่าตัดได้หรือไม่? การผ่าตัด "นิ่วในถุงน้ำดี" คือการตัดถุงน้ำดีออกไปครับ ไม่สามารถนำแค่นิ่วออกไปได้ เพราะว่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ หรืออาจจะเกิดน้ำดีรั่วในช่องท้องได้ครับ และถ้าเราเริ่มมีอาการของนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีเสมอครับ เพราะว่าเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว แปลว่าในอนาคตจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงครับ แต่ถ้าไม่มีอาการเลยจะจำเป็นต้องผ่าตัดก็ต่อเมื่อ
1. นิ่วมีขนาดใหญ่กว่า 3 ซม.  
2. ตรวจพบนิ่วร่วมกับติ่งเนื้อในถุงน้ำดี
3.ถุงน้ำดีมีลักษณะอักเสบเรื้อรัง (porcelain gallbladder)
4. เป็นโรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติ เช่น sickle cell anemia, hereditary spherocytosis และ 5.อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ถ้าเกิดมีภาวะแทรกซ้อน
 

การผ่าตัดโรค "นิ่วในถุงน้ำดี" ในปัจจุบันต่างกับในอดีต อย่างไร?
ในอดีตการผ่าตัดถุงน้ำดีจะเป็นแบบเปิดซึ่งมีแผลขนาด 15-20 ซม. ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยปวดแผลมาก ฟื้นตัวช้าและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของแผลผ่าตัดได้สูง จนในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยจะมีแผลเพียงแค่ 0.5-1 ซม. ประมาณ 3-4 แผล ทำให้ มีแผลเล็ก เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวได้ไว สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ทันทีหลังจากผ่าตัด ที่สำคัญคือการผ่าตัดวิธีนี้จะใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูง ทำให้เห็นอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้ชัดเจนและปลอดภัยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำดีแผลเดียว หรือ Single Incision Laparoscopic Cholecystectomy (SILC) ที่เป็นการผ่าตัดซ่อนแผลไว้บริเวณสะดือ ขนาดแผลประมาณ 1.5-2 ซม. ทำให้ไม่เห็นรอยแผลเป็น แต่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์ของศัลยแพทย์เป็นอย่างสูง


หลังจากการผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการปรับตัวของร่างกายที่เรียกว่า Post-Cholecystectomy Syndrome ซึ่งพบได้ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด โดยจะมีอาการอืดแน่นท้องเล็กน้อยหลังทานอาหารโดยเฉพาะอาหารมัน และอาการเหล่านี้สามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์หลังผ่าตัด และเนื่องจากในปัจจุบันการผ่าตัดถุงน้ำดี จะใช้การผ่าตัดส่องกล้องเป็นหลัก แผลจะเล็กลง เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวไวขึ้น หลังผ่าตัดก็สามารถเดิน หรือใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ทันที ส่วนการออกกำลังกายอาจจะใช้ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความหนักของกิจกรรมนั้นๆ 


 

นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย  
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ