ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'ไซนัสอักเสบ' โรคยอดฮิตวัยทำงาน อันตรายกว่าที่คิด

04 มี.ค. 2567

'โรคไซนัสอักเสบ' หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เป็นโรค 'ไซนัสอักเสบ' เรื้อรังที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

หลายคนอาจเคยมีอาการคัดจมูกไม่หาย มีน้ำมูกข้น หรือไอแบบมีเสมหะ แต่คิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา จนเมื่อไปพบแพทย์จึงรู้ว่าเป็น ไซนัสอักเสบ ดังนั้น ใครก็ตามที่มีอาการดังกล่าวไม่ควรปล่อยไว้นาน ให้รีบไปพบแพทย์จะดีกว่า เพราะการไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เป็น โรคไซนัสอักเสบ เรื้อรังที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

 

นพ.พิทยา กนกจรรยา

 

ทำความรู้จักกับ “โรคไซนัสอักเสบ”

 

นพ.พิทยา กนกจรรยา แพทย์ประจำสาขาโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ อธิบายว่า โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบและติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยโรค ไซนัสอักเสบ จะมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ดังนี้

 

  • โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์
  • โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน จะมีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ จะมีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการแบบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะๆ ได้

 

โรคไซนัสอักเสบ มีอาการอย่างไร?

 

  • คัดจมูก หรือมีน้ำมูกข้นเหนียว
  • มีเสมหะข้น
  • ปวดแน่นบริเวณใบหน้า
  • หายใจมีกลิ่น
  • หากเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดฟัน และไอ เป็นต้น

 

 

การวินิจฉัย โรคไซนัสอักเสบ

การวินิจฉัยโรค ไซนัสอักเสบ แพทย์จะอาศัยการพิจารณาจากประวัติและอาการแสดงทางคลินิกเป็นหลัก อาจจำเป็นต้องทำการถ่ายภาพรังสีหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในบางรายที่แพทย์สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน หรือทำการส่งเพาะเชื้อเพื่อการให้ยาต้านจุลชีพหรือสงสัยเชื้อที่ดื้อยา

 

รู้จัก \'ไซนัสอักเสบ\' โรคยอดฮิตวัยทำงาน อันตรายกว่าที่คิด

 

 

การรักษา โรคไซนัสอักเสบ

การรักษาโรค ไซนัสอักเสบ มักรักษาตามสาเหตุว่าเกิดจากการเชื้อประเภทใด ดังนี้

 

  • ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด หรือให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
  • ไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 10-14 วัน โดยชนิดของยาจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการดื้อยาในแต่ละราย ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยากินเอง
  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย อาจให้ยาปฏิชีวนะโดยพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่มีเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันซ้ำๆ และมักทำการส่งเพาะเชื้อต่อไป เพื่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

 

 

โรคไซนัสอักเสบ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

โรคไซนัสอักเสบจะมีอาการหลักๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ด้วย เช่น

 

  • ทางตา : ตาบวม เจ็บตา กลอกลูกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน
  • ทางสมอง : ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ รวมถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีไข้สูงร่วมด้วย และหากปล่อยไว้จนเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นในสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจทำให้ติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

หากพบว่ามีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็น โรคไซนัสอักเสบ เช่น มีไข้สูงร่วมกับน้ำมูกข้น มีอาการปวดใบหน้าติดต่อกันเกิน 3-4 วันตั้งแต่เริ่มป่วย เป็นไข้หวัดที่อาการไม่ดีขึ้นนานเกินกว่า 10 วัน รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามที่กล่าวมา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างตรงจุด เพราะ ไซนัสอักเสบ เป็นภาวะติดเชื้ออย่างหนึ่ง ที่หากปล่อยไว้อาจเกิดการลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้