Lifestyle

ผู้เชี่ยวชาญแนะ เคล็ด (ไม่) ลับ นอนหลับสนิทง่ายๆ แค่ปรับพฤติกรรมตามนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องนอน ไม่เคยเป็นเรื่องยากสมัยที่เรายังหนุ่มๆ สาวๆ กันอยู่ แต่ทำไม พอเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายเลขสาม กำลังจะข้ามไปสู่หลักสี่ ตกดึก อยากจะนอน ทำไมถึงได้หลับยากกว่าที่เคยเป็น

คนเราควรได้รับการพักผ่อนจาก การนอน อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ไม่เกิดความเหนื่อยล้า สะสม และยังเป็นช่วงเวลาของการซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่สึกหรอ ให้เราได้สร้างฮอร์โมนที่จำเป็น ให้อวัยวะภายในต่างๆ ได้พักจากการทำงานหนัก หรืออย่างน้อยก็ได้ทำงานเบาลงบ้าง รวมถึงให้ระบบต่างๆ ได้ปรับสมดุลหลังจากความเร่งรีบในวันที่ผ่านมาอีกครั้ง ทว่าหลายๆ ครั้ง การนอนหลับ กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

วันนี้จะชวนมาว่ากันด้วยเรื่องของ การนอน ช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายจะได้หยุดพักกันซักหน่อยค่ะ ว่ามีเคล็ดลับดีๆ อะไรบ้าง ที่จะช่วยให้การนอนของเรา เป็นไปอย่างมีระบบ ไม่มีปัญหาการนอนหลับยาก และเป็น การนอนหลับ ที่ร่างกายได้พักผ่อนอย่างแท้จริง

 

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับฮอร์โมนเมลาโทนินกันก่อน ฮอร์โมนเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมไพเนียล โดยจะถูกกระตุ้นโดยความมืด และระงับด้วยแสงสว่าง เป็นฮอร์โมน ที่มีผลโดยตรงกับการง่วงนอนของเราล่ะค่ะ เมื่อฮอร์โมนเมาลาโทนินถูกหลั่งออกมามากก็จะทำให้เกิดอาการง่วงมากขึ้น เช่นในสถานที่ที่มีแสงสลัว หรือช่วงพลบค่ำ และหากเมื่อเราได้รับแสงสว่าง ออร์โมนชนิดนี้ก็จะหลั่งออกมาน้อยลง เราก็จะรู้สึกสดชื่น หายง่วงนอนนั่นเอง

 

 

โดยที่การหลั่งของ ฮอร์โมนเมลาโทนิน ในรอบวัน เริ่มต้นจากในเวลากลางคืนจะมีการสร้างเมลาโทนินมาก ตั้งแต่เวลา 21.00-22.00 น. และมีการสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับสูงสุดเวลา 02.00-04.00 น. จากนั้น จึงจะค่อยลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 07.00-08.00 น.

 

ฮอร์โมนเมลาโทนิน นี้ ก็คือปัจจัยหลัก ของการง่วงนอน แปลว่า เมื่อเราต้องการจะพักผ่อน เราก็ไม่ควรทำอะไรที่เป็นการยับยั้ง หรือปิดกั้นการหลั่งของฮอร์โมนชนิดนี้ โดยพฤติกรรมที่มีผลต่อการยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน ก็คือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับแสงสว่าง ทั้งความสว่างของแสงไฟภายในห้องนอน การใช้คอมพิวเตอร์ก่อนนอน การดูโทรทัศน์รอบดึก หรือแม้แต่การใช้อุปกรณ์แท็บเลต และโทรศัพท์มือถือ เพราะทั้งหมดมีส่วนของแสง ซึ่งจะทำให้ร่างกายแปรเป็นสัญญาณไปสั่งการให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาน้อยลง ดังนั้น ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สว่างจ้า ปรับเวลาการรับชมรายการโทรทัศน์ช่วงค่ำ และดูแลให้แสงสว่างในห้องนอนไม่สว่างจนเกินไป

 

 

นอกเหนือจากเรื่องของฮอร์โมนเมลาโทนินแล้ว การเตรียมตัวก่อนการเข้านอน และพฤติกรรมในระหว่างวัน ก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้เราสามารถ นอนหลับ ได้อย่างเต็มที่ ยังรวมถึงการเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามรักษาตาราง การนอน ให้สม่ำเสมอในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน และที่สำคัญ ลองหัดฝึกให้จิตใจสงบลงก่อนนอน หลายๆ คนอาจมีวิธีการของตัวเอง แต่ที่แน่ๆ เราจะ นอนหลับ ได้ง่าย และสนิทขึ้น หากจิตใจของเราสงบลงก่อนที่เราจะเข้านอน

 

 

รู้วิธี นอนหลับ ให้เต็มที่กันไปแล้ว คืนนี้ อย่าลืมนำไปใช้กันนะคะ ร่างกายที่เหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งวันแล้วจะได้พักอย่างเต็มที่….สำหรับค่ำคืนที่กำลังจะมาถึง นอนหลับฝันดี ราตรีสวัสดิ์

logoline