Lifestyle

สัญญาณเตือน ใครมีพฤติกรรมชอบคิด ชอบทำอะไรซ้ำๆ อาจเข้าข่าย 'โรคย้ำคิดย้ำทำ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โรคย้ำคิดย้ำทำ' ผู้ป่วยจะมีความกังวลหรือความสงสัย ไม่มั่นใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และพยายามแก้ไขความกังวล ความสงสัยนั้น ด้วยการทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา

หากคุณมีพฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น ล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบประตูซ้ำๆ มีความคิดหมกมุ่นที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นซ้ำๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคย้ำคิดย้ำทำ ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้จะไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สามารถส่วผลกระทบอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

 

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์

 

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital อธิบายว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder - OCD) เป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถพบได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก โดยพบได้ประมาณ 1.2% ของประชากร ซึ่งผู้ป่วยจะมีความกังวลหรือความสงสัย ไม่มั่นใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และพยายามแก้ไขความกังวล ความสงสัยนั้น ด้วยการทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา 

โรคย้ำคิดย้ำทำ มี 2 องค์ประกอบ 

 

  • อาการย้ำคิด (Obsession) คือ มีความคิดหมกมุ่นที่ควบคุมไม่ได้ เกิดขึ้นซ้ำๆ ไม่สามารถหยุดคิดได้ ถึงแม้ว่าตัวเองจะรู้ว่าความคิดนั้นจะไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกินจริง เช่น กลัวเชื้อโรค, หมกหมุ่นกับความเป็นระเบียบ, กลัวสิ่งไม่ดีจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เป็นต้น
  • อาการย้ำทำ (Compulsion) คือ การทำพฤติกรรมต่างๆ หรือ การคิดในทางตรงข้าม เพื่อพยายามลดความวิตกกังวลจากการย้ำคิด เช่น ล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบประตูซ้ำๆ, ตรวจสอบปลั๊กไฟ หรือเตาอบซ้ำๆ เป็นต้น
  • อาการย้ำคิด-ย้ำทำ อาจพบร่วมกับความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น ขยิบตาบ่อยๆ ยักไหล่ กระตุกศีรษะหรือไหล่ หรือส่งเสียงผิดปกติ เช่น กระแอม คำราม หรือพูดคำหยาบโดยควบคุมไม่ได้

 

ปัจจัยเสี่ยงของ โรคย้ำคิดย้ำทำ 

 

  • มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • อายุ อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ มักเริ่มเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น หรือ ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยยิ่งถ้าญาติสายตรงเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำตั้งแต่เด็ก หรือ วัยรุ่น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
  • สิ่งแวดล้อม เช่น หากได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจในวัยเด็ก ก็อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดอาการย้ำคิดย้ำทำได้
  • ช่วงตั้งครรภ์ และระยะหลังคลอด จะพบอุบัติการณ์ของโรคย้ำคิดย้ำทำได้มากขึ้น โดยอาการมักเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของลูก หรือการวิตกกังวลว่าตัวเองจะดูแลลูกไม่ดีพอ

 

สำหรับการรักษา โรคย้ำคิดย้ำทำ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การใช้ยา ร่วมกับ การทำจิตบำบัด โดยยากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษาโรคนี้คือ Serotonin selective reuptake inhibitors (SSRIs) ซึ่งจะช่วยปรับระดับของสารสื่อประสาท Serotonin ในสมองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

ส่วนการทำจิตบำบัดนั้น จะเน้นไปที่การบำบัดความคิดและพฤติกรรม ผ่านเทคนิค Exposure and Response Prevention (ERP) โดยมีจุดมุ่งหมายคือการพยายามให้ผู้ป่วยหลุดพ้นวงจรย้ำคิด-ย้ำทำ ผ่านการพยายามยับยั้งการทำพฤติกรรมย้ำทำ เมื่อได้รับการกระตุ้น ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วย และทีมการรักษา เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการรักษา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ