Lifestyle

เช็กให้ชัวร์ อาการแบบไหนเป็นอะไรกันแน่ ไข้หวัด โควิด-19 หรือแค่ ภูมิแพ้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขข้อข้องใจ ไข้หวัด, โควิด-19, ภูมิแพ้อากาศ มีความแตกต่างกันอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้น ความจริงแล้วเป็นอะไรกันแน่

ถ้าตอนเช้าตื่นมาแล้วคุณรู้สึกตัวรุมๆ ปวดหัว ปวดเมื่อย แสบจมูก หรือเจ็บคอ แล้วถ้าเป็นเช้าวันจันทร์ด้วย เคยสงสัยกันไหม ว่าตัวเรากำลังป่วยจริงๆ ป่วยการเมือง หรือเป็นภูมิแพ้กันแน่นะ วันนี้ พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช จะมาอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของอาการป่วยไข้หวัด โควิด-19 และภูมิแพ้อากาศ การดูแลรักษา และป้องกัน เพื่อจะได้สังเกตตัวเองและคนรอบข้าง นำไปสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

 

พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์

 

ลักษณะอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ การใช้ชีวิตที่มีมลภาวะ อย่าง pm2.5 ไปจนถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อาการเล็กๆ น้อยๆ ในตอนเช้าที่ตื่นขึ้นมา อาจทำให้เราตื่นตระหนกได้ว่า เราเป็นเพียงแค่ ไข้หวัด เป็น โควิด-19 หรือเป็นแค่ภูมิแพ้ ซึ่งในความเป็นจริงอาการคล้ายกันจนน่าสงสัยมากๆ ลักษณะอาการของกลุ่มโรคเหล่านี้ เป็นอาการของระบบทางเดินหายใจ มีอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงอาการรุนแรงได้

• ไข้หวัด เป็นโรคติดเชื้อ จากไวรัสทางเดินหายใจ มักพบในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในทุกฤดู

อาการไม่รุนแรง ในคนสุขภาพแข็งแรงสามารถหายได้เองใน 2-5 วัน ติดต่อโดยการหายใจรับละอองสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ที่มีอาการ ผ่านการ ไอ จาม หรือสัมผัสโดยตรง

อาการที่พบ คัดจมูก มีน้ำมูกใสถึงขุ่น จาม ไอมีเสมหะ เจ็บคอ เสียงแหบ ไป จนถึง อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ได้เล็กน้อย การเป็นไข้หวัด เป็น ๆ หาย ๆ บ่อยแสดงว่าเป็นไข้หวัดแบบเรื้อรัง นอกจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การเรียน การทำงาน การนอนหลับพักผ่อน การกินอาหารแล้ว บางครั้งอาจเกิดอาการแทรกซ้อนของโรคบางอย่างที่เราไม่ทันได้รู้ตัว เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ภาวะต่อมอะดรีนอยด์โต ไปจนถึงภาวะหลอดลมไว ได้อีกด้วย

 

• โควิด-19 บางครั้งอาการเริ่มต้นเหมือนการเป็นไข้หวัด บางครั้งไม่มีอาการบังเอิญตรวจ ATK แล้วเจอผลบวก

อาการที่มีได้นั้น คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก ไปจนถึง มีผื่นผิวหนัง ตาแดง หายใจลำบากร่วมกับ ป;fเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย ในบางราย มีอาการไม่ได้กลิ่น ไม่รับรสร่วมได้ ในรายที่มี

อาการค่อนข้างเป็นมาก เช่น ไอมาก เจ็บหน้าอก หอบ หายใจเหนื่อย เนื่องจากมีอาการของปอดอักเสบร่วมได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ซึ่งต่างจากในเด็ก ในระยะหลังๆ พบว่ามีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย

 

• ภูมิแพ้อากาศ

อาการที่พบได้บ่อย คือ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูก คันตา ซึ่ง เป็นไปตามช่วงเวลาของวัน ในเช้าตรู่

ในช่วงเย็นๆ ค่ำๆ หรือก่อนนอน อาการเหล่านี้ พบได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุได้ ในขณะที่มีรายงานว่า พบในเด็กที่อายุน้อยลงที่อายุ 1-2 ปี ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็น ไรฝุ่น ละอองหญ้า เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ แมลงสาบ และเชื้อรา การสัมผัสสารก่อระคายเคือง pm2.5 นั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ไวขึ้น หรือกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันประชากรไทย พบแนวโน้มของอาการภูมิแพ้อากาศสูงขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

การดูแลรักษา และป้องกัน

 

  • ไข้หวัด สามารถหายได้เอง ภายใน 2-5 วันในผู้มีสุขภาพแข็งแรง เราสามารถใช้ยาเพียงเล็กน้อย เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้แก้ปวดพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาแก้ไอชนิด พ่นคอ อมแก้ เจ็บคอ ชนิดกินละลายเสมหะ ไปจนถึง วิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินซี เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มภูมิต้านทานไปพร้อม ๆ กับการพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน

 

  • โควิด-19 ในกลุ่มที่มีอาการระบบทางเดินหายใจมาก มีปอดอักเสบ หรือมีโรคเรื้อรังนั้น จำเป็นต้องได้รับ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสร่วมกับการรักษาแบบประคับประคอง แต่ในขณะที่กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย คล้ายไข้หวัด พบได้เป็นส่วนใหญ่นั้น สามารถหายได้เองภายใน 5 วัน การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงคล้ายกับการดูแลไข้หวัดนั่นเอง

 

 

ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดของการเจ็บป่วย นั้นคือ

 

  1. การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในพื้นที่แออัด หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  2. การรักษาระยะห่างอย่างเหมาะสม social distancing
  3. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด ผัก ผลไม้ งดเว้น อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
  4. การล้างมือบ่อยๆ อย่างถูกวิธี ด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ หรือแอลกอฮอลล์ล้างมือ
  5. ดูแลตัวเองพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สดใส และออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

 

สำหรับอาการภูมิแพ้นั้น เน้นการรักษาอย่างต่อเนื่อง และการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

 

การรักษาควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ เนื่องจากการรักษาด้วยยา มีทั้งรูปแบบกินยาบรรเทาอาการ กินยารักษาอย่างต่อเนื่อง รูปแบบยาพ่นจมูก ยาพ่นละอองฝอย ร่วมไปกับการล้างจมูกเป็นประจำ 

 

และในปัจจุบันมีการรักษาด้วย Imunotherapy วัคซีนรักษาภูมิแพ้ ซึ่งมีประสิทธิภาพและควบคุม บรรเทาอาการได้มากยิ่งขึ้น โดยในผู้ป่วยภูมิแพ้ควรได้รับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ที่เป็นสาเหตุของอาการได้ทั้งวิธีสะกิดผิวหนัง skin prick test หรือ การตรวจเลือด specific IgE เพื่อหลีกเลี่ยงควบคู่ไปกับการรักษา ทั้งนี้การหลีกเลี่ยงสารก่อระคายเคือง เช่น มลภาวะ ควันธูป ควันบุหรี่ และ pm2.5 ก็สำคัญเช่นกัน 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ