Lifestyle

ส่องพฤติกรรมลูกน้อย เช็ก 7 สัญญาณเตือน 'โรคจิตเวชในเด็ก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โรคจิตเวชในเด็ก' สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว รุนแรงสุดอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย

หลายคนอาจคิดว่าโรคทางจิตเวชจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใหญ่ แต่ในความเป็นจริง โรคทางจิตเวชจำนวนมาก สามารถเกิดได้ในเด็ก และหลายโรคที่พบในผู้ใหญ่ก็มักจะเริ่มแสดงอาการในระยะเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะฉะนั้น การที่พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตอาการ และจับสัญญาณเตือน โรคจิตเวชในเด็ก ได้ตั้งแต่ลูกยังเด็ก ก็จะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น เพราะยิ่งเริ่มรักษาได้เร็ว ก็จะยิ่งมีโอกาสหายเพิ่มขึ้น

 

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์

 

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคจิตเวชในเด็ก สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว หากเด็กมีอาการของโรคจิตเวชแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาการเรียน ปัญหาการเข้าสังคม รุนแรงสุดอาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

 

 

การสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของเด็กจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยมี 7 สัญญาณเตือนที่สังเกตได้ไม่ยาก ซึ่งอาจบ่งบอกถึง โรคจิตเวชในเด็ก ได้ ดังนี้

 

  1. พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เด็กบางคนเดิมทีอาจเป็นคนชอบกิน กินเก่ง แต่ถ้าหากว่าเริ่มมีอาการไม่อยากอาหาร ไม่อยากกินข้าว อาจจะสะท้อนปัญหาภายในจิตใจ เช่นทางด้านอารมณ์ ความคิด รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างตัวเอง
  2. พฤติกรรมการนอน เช่น การนอนไม่หลับ หรือ นอนมากเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กมีปัญหาทางด้านภาวะจิตใจ
  3. พฤติกรรมเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่พูดคุยกับใคร เช่น ก่อนหน้านี้เป็นคนช่างพูดช่างคุย แต่จู่ๆ ก็เกิดอาการไม่อยากพูดคุยกับใคร หนีขึ้นห้องนอน ไม่พบปะผู้คน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ก็อาจเป็นการบ่งบอกว่ามีความเครียด หรือ มีปัญหาทางอารมณ์ได้
  4. พฤติกรรมการพูดคนเดียว อาจบ่งชี้ถึงการมีอาการหูแว่ว จึงพูดโต้ตอบกับเสียงที่ตัวเองได้ยิน ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่มีใครอยู่ตรงนั้น 
  5. ผลการเรียน การที่จู่ๆ ลูกมีผลการเรียนตกลง นั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาด้านการเรียนการสอน ปัญหากับเพื่อน โดนเพื่อนแกล้ง ปัญหาด้านอารมณ์ รวมไปถึงปัญหาด้านสมาธิ
  6. การเข้าเรียน การที่เด็กโดดเรียนนั้น แสดงให้เห็นว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมโรงเรียน ที่บ้าน หรือ ปัญหาบางอย่างภายในตัวเด็กเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่ควรต้องมาหาสาเหตุเช่นกัน
  7. พฤติกรรมก้าวร้าว อาจเกิดจากการที่เด็กไปเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมมา เช่น การเลียนแบบเพื่อน เลียนแบบทีวี หรืออาจจะเป็นการบ่งบอกถึงโรคทางจิตเวชบางอย่างก็ได้

 

ส่องพฤติกรรมลูกน้อย เช็ก 7 สัญญาณเตือน 'โรคจิตเวชในเด็ก'

     

หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองสังเกตเห็นสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อรับการประเมินและวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง การรักษา โรคจิตเวชในเด็ก สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การให้ยา การให้คำปรึกษา หรือการทำจิตบำบัด โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและความรุนแรงของอาการ

 

 

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถช่วยป้องกัน โรคจิตเวชในเด็ก ได้ โดยการดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด สังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างสม่ำเสมอ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก เช่น ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมที่หลากหลาย ฝึกทักษะทางอารมณ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก

 

logoline