Lifestyle

รู้ทันโรคยอดฮิตชาวออฟฟิศ ใช้เมาส์ พิมพ์งาน เสี่ยงเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้ทันโรคยอดฮิตชาวออฟฟิศ ใช้เมาส์ พิมพ์งาน เสี่ยงเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ อย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้ถูกวิธี อาจรุนแรงถึงขั้นเส้นเอ็นฉีกขาด ใช้ข้อมือไม่ได้เลย

เชื่อว่าชาวออฟฟิศเกิน 80% ต้องอยู่คู่กับคอมพิวเตอร์แทบตลอดเวลา ไม่ว่างานไหน แผนกไหน ก็ล้วนต้องใช้เมาส์คลิกนู่นนี่พร้อมใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งานอยู่บ่อยๆ นานวันเข้าข้อมือก็เกิดอาการปวดเมื่อย เจ็บแปลบขึ้นมา หรือบางทีมือก็ชาจนขยับไม่ได้เลย ชาวออฟฟิศคนไหนกำลังเจอกับอาการนี้อยู่ อย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาด เพราะข้อมือของคุณอาจกำลังเสี่ยงเส้นเอ็นอักเสบ! ที่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้ถูกวิธี อาจรุนแรงถึงขั้นเส้นเอ็นฉีกขาด ใช้ข้อมือไม่ได้เลย ในบทความนี้เราเลยขอพามารู้จักภาวะเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ หนึ่งในโรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศ ทั้งสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน รวมถึงวิธีการรักษากัน ชาวออฟฟิศ หรือคนที่ใช้คอมพิวเตอร์บ่อยๆ ตามมาดูเลย

สาเหตุของเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ
ข้อมือเป็นหนึ่งในส่วนข้อต่อของร่างกายที่เราใช้งานบ่อยมากที่สุดในชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ทั้งใช้จับสิ่งของ รับประทานอาหาร หรืออย่างชาวออฟฟิศก็จะมีการพิมพ์งานและควบคุมเมาส์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย "เส้นเอ็น" ที่อยู่บริเวณรอบๆ ข้อมือและ "ปลอกหุ้มเอ็น" ที่ทำหน้าที่รั้งเส้นเอ็นให้อยู่แนบกับข้อมือไว้เสมอ ทั้งยึดและช่วยดึงให้ข้อมือเคลื่อนไหวไปในทิศทางต้องการ เมื่อเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นต้องทำงานหนักติดต่อกัน จึงเสี่ยงต่อการเกิดอักเสบ และบาดเจ็บที่ข้อมือได้ง่ายนั่นเอง โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ มีดังนี้

  • การเคลื่อนไหวเส้นเอ็นที่ข้อมือข้างใดข้างหนึ่งซ้ำๆ เป็นเวลานาน เช่น การใช้หรือคลิกเมาส์ หรือพิมพ์งานด้วยคีย์บอร์ดอย่างต่อเนื่อง การจับอุปกรณ์ที่ต้องเกร็งเส้นเอ็นที่มือ เป็นต้น 
  • การนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม วางแขนและข้อมือไม่บาลานซ์ซึ่งจะทำให้เส้นเอ็นที่ข้อมือต้องเกร็งตัวตลอดเวลา เช่น การนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ การนั่งไขว้ห่าง นั่งบนเก้าอี้โดยเท้าไม่ติดพื้น 
  • เกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อมือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลัน อย่างการหกล้มแล้วใช้ข้อมือค้ำยันไว้ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือ เช่น แบดมินตัน มวย ยูโด หรือการยกเวทที่มีน้ำหนักเยอะ เป็นต้น 
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เส้นเอ็นและข้อมือจะมีความยืดหยุ่นลดลงมาก เมื่อขยับร่างกายเยอะ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อมือได้ง่าย 
     

อาการของเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ
ชาวออฟฟิศที่ต้องพิมพ์งาน ใช้เมาส์อยู่บ่อยๆ แล้วสงสัยว่าตนเองกำลังเสี่ยงมีภาวะเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมืออยู่หรือไม่ สามารถสังเกตอาการได้ตามนี้เลย 

  • อาการเริ่มต้นอาจจะเริ่มรู้สึกชาๆ ร้อนๆ ที่บริเวณข้อมือ และมีอาการแดงร่วมด้วย แต่ยังไม่เกิดอาการบวม หากพักการใช้งานข้อมือสักระยะ อาจรู้สึกดีขึ้น หรือมีอาการชาน้อยลง 
  • อาการที่เริ่มมากขึ้น คือ หากขยับนิ้วหัวแม่มือไปในทิศทางใด ทิศทางหนึ่งจะเกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นมาทันที ไม่สามารถขยับข้อมือได้อย่างอิสระ 
  • และอาการสุดท้ายที่ชัดเจนว่าเส้นเอ็นที่ข้อมือเข้าขั้นอักเสบแล้ว คือ นิ้วมือและข้อมือบวม และหากปล่อยไว้สักระยะ ปลอกหุ้มเส้นเอ็นจะมีความหนาขึ้นมา หากลองคลำๆ ดูจะเจอเป็นก้อนนูน เมื่อแตะแล้วจะรู้สึกเจ็บมาก และแม้ว่าจะพักการใช้ข้อมือเป็นเวลานานแล้ว อาการเจ็บก็ยังไม่หายไป ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดอาการเรื้อรังไปยังส่วนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเส้นเอ็นฉีกขาดได้นั่นเอง 


วิธีป้องกันเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ   
อย่างที่เราได้บอกถึงสาเหตุหลักๆ ของเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือไป คือมาจากการเคลื่อนไหวเส้นเอ็นที่ข้อมือข้างใดข้างหนึ่งซ้ำๆ เป็นเวลานาน อย่างชาวออฟฟิศที่ต้องใช้ข้อมือและนิ้วมือเพื่อพิมพ์งาน และควบคุมเมาส์ให้ไปในทิศทางที่ต้องการอยู่เสมอ ยิ่งถ้าเป็นงานสายกราฟิกด้วยแล้ว โอกาสเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือยิ่งทวีคูณ ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีสุด คือ การหลีกเลี่ยงการใช้งานของข้อมือที่เสี่ยงต่อการอักเสบ พยายามใช้งานข้อมืออย่างเหมาะสม ไม่มากจนเกินไป สำหรับชาวออฟฟิศอาจป้องกัน ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

  • พักการใช้ข้อมือเป็นระยะๆ ไม่พิมพ์งาน หรือจับเมาส์ค้างเป็นเวลานานๆ และหากเริ่มรู้สึกเมื่อยบริเวณข้อมือ อาจลองบริหารนิ้วมือและข้อมือให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อผ่อนคลาย เช่น การดัดข้อมือ หารหงายมือสลับกับกำมือ หรือทำการบีบลูกบอลยาง เป็นต้น 
     
  • ปรับพฤติกรรมการนั่งให้เหมาะสม นั่งในท่าที่ข้อมือและแขนมีความบาลานซ์ ไม่ลงน้ำหนักไปที่ข้างใดข้างหนึ่งซึ่งจะทำให้ข้อมือเกิดอาการเกร็งจนปวดเมื่อยนั่นเอง  

 

  • การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือหาไอเทมเสริมที่ช่วยให้ข้อมือทำงานน้อยลง เช่น คีย์บอร์ดที่มีสัมผัสไม่แข็ง กดได้ง่าย หรือเมาส์แนวตั้งเพื่อสุขภาพ หรือจะเป็นที่วางเท้าเพื่อทำให้ร่างกายบาลานซ์มากขึ้น เป็นต้น 


วิธีรักษาเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ   
เส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือสามารถรักษาให้หายได้ และการรักษาจะแบ่งออกเป็นระยะที่ขึ้นอยู่กับอาการของโรคตามที่แพทย์วินิจฉัย ดังนี้

การรักษาเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือเบื้องต้น 

  • การรักษาเบื้องต้นวิธีแรก คือ พักการใช้งานข้อมือจนกว่าข้อมือจะหายปวด และมีอาการดีขึ้น 
  • นำมือหรือข้อมือแช่น้ำอุ่นๆ วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-30 นาที และหลังจากแช่น้ำอุ่นจนรู้สึกดีขึ้นแล้ว ควรทำกายภาพบำบัดควบคู่ด้วย  
  • ทำกายภาพบำบัดที่ข้อมือเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อมือ และลดการอักเสบ ทำให้เส้นเอ็นที่ข้อมือเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
  • การรับประทานยาแก้อักเสบตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยที่ข้อมือ และลดการบวมอักเสบของเส้นเอ็น เป็นต้น


การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบที่เส้นเอ็น
หากอาการเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือยังไม่ดีขึ้น แม้จะทำตามวิธีการรักษาเบื้องต้นครบหมดแล้วก็ตาม แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ เนื่องจากสเตียรอยด์ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว ลดอาการอักเสบอย่างตรงจุด ไม่ได้มีผลข้างเคียงหรืออันตรายให้ต้องกังวล เพราะเป็นการฉีดเฉพาะที่ ซึ่งจะออกฤทธิ์ลดการอักเสบในบริเวณที่ฉีดเท่านั้น ไม่ส่งผลกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เหมือนการรับประทานอาหารเสริมที่ผสมสเตียรอยด์นั่นเอง


การผ่าตัดขนาดเล็ก   
และหากผ่านขั้นตอนการรักษาด้วยสเตียรอยด์แล้ว ข้อมือของเราก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ปกติ มีอาการเจ็บปวดที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน อาจจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการปรึกษาร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ที่มีอาการเป็นเคสๆ ไป โดยการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก เพื่อทำการคลายปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณที่มีการเสียดสีกันออก ช่วยทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนตัวได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยหลังจากผ่าตัดไม่จำเป็นต้องพักฟื้นนาน เแผลมีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 10 นาทีเท่านั้น หลังผ่าตัดจะสามารถใช้งานมือด้านนั้นได้ตามปกติ 


และนี่คือภาวะเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ หนึ่งในโรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศที่ต้องใช้นิ้วและข้อมือพิมพ์งาน ควบคุมเมาส์อยู่เป็นประจำ หากชาวออฟฟิศและทุกๆ คนอยากถนอม "ข้อมือ" อวัยวะสำคัญของเราไว้ใช้งานได้ยาวๆ ไม่อยากให้เส้นเอ็นข้อมือฉีกขาด เจ็บแปลบ ปวดจี๊ดจนใช้ข้อมือไม่ได้ ก็ควรพยายามใช้งานข้อมืออย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปจนทำให้เสี่ยงต่อการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการพักใช้งานเป็นระยะๆ การบริหารข้อมืออย่างสม่ำเสมอ การเลือกท่านั่งที่เหมาะสม รวมถึงการหาอุปกรณ์เสริมที่ลดการใช้งานข้อมือด้วย ก็จะช่วยถนอมเส้นเอ็นที่ข้อมือของเราได้มากขึ้น


สำหรับชาวออฟฟิศ หรือคนที่ใช้งานข้อมือบ่อยๆ แล้วสงสัยว่าตนเองกำลังเสี่ยงเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมืออยู่ ทั้งเริ่มมีอาการปวดชา เจ็บแปลบ แม้จะพักการใช้งานแล้วก็ไม่หาย รวมถึงเริ่มมีก้อนนูนปูดขึ้นมาที่ข้อมือ ที่ KDMS Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข มีโปรแกรมตรวจมือและข้อมืออย่างครบครัน พร้อมวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด หากอยากมีข้อมือที่แข็งแรง กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม ติดต่อสอบถามและหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ https://kdmshospital.com หรือ โทร. 02-080-8999

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ