Lifestyle

'ตรวจสุขภาพประจำปี' รู้ทันโรคร้าย ก่อนสายเกินแก้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การ 'ตรวจสุขภาพประจำปี' คือการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่ ซึ่งถ้าตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็จะช่วยให้วางแผนการรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงกว่าการตรวจพบในระยะร้ายแรง

หลายคนอาจไม่เคยมีอาการเจ็บป่วย จนมองข้ามการ ตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเห็นว่าไม่มีความสำคัญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคก็เพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ ซึ่งความผิดปกติในระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งเกิดอาการในระยะลุกลามและยากต่อการรักษา

 

นพ.วิรุณ เกียรติคุณรัตน์

 

 

นพ.วิรุณ เกียรติคุณรัตน์  แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ Wellness Center โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การ ตรวจสุขภาพประจำปี คือการตรวจคัดกรองเพื่อหาความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่ช่วยให้รู้ทันสภาพร่างกายของตัวเอง ซึ่งถ้าตรวจพบความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็จะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูงกว่าการตรวจพบในระยะร้ายแรง รวมถึงค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าในระยะลุกลาม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำยิ่งขึ้น

 

การ ตรวจสุขภาพประจำปี สามารถตรวจได้ทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุ โดยรายการตรวจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เพศ  และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งการตรวจสุขภาพประจำปีได้ดังนี้ 

 

  • วัยเด็ก เป็นการตรวจร่างกายเพื่อดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการเป็นหลัก ซึ่งจะประเมินโดยกุมารแพทย์ และยังรวมไปถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ  เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ
  • วัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 18-50 ปี เป็นการตรวจสภาพร่างกายพื้นฐานโดยรวม ประกอบด้วย การวัดความดันโลหิต, การวัดชีพจร, การวัดอัตราการหายใจ, วัดส่วนสูง, ชั่งน้ำหนัก, การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ตรวจวัดระดับน้ำตาล ระดับไขมัน การทำงานของตับ ไต, ตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง, การตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
  • กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพหัวใจจากการวิ่งสายพาน และการอัลตร้าซาวน์หัวใจ มีความสำคัญมาก และอาจต้องตรวจก่อนอายุ 50 ปี ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และมีญาติเป็นโรคหัวใจ, การประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมอง, การตรวจความหนาแน่นกระดูก เพื่อคัดกรองภาวะกระดูกพรุน และ การตรวจสภาพสายตา
  • สำหรับเพศหญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเอ็กซเรย์เต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50  ปีขึ้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง เพื่อเป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

 

 

การเตรียมตัวตรวจสุขภาพ

 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
  • งดดื่มน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง แต่สามารถจิบน้ำเปล่าได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • ไม่ต้องหยุดยาที่รับประทานเป็นประจำ แต่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ยกเว้นยาโรคเบาหวานที่ต้องงดก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ
  • ผู้หญิงไม่ควรตรวจสุขภาพช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 1 สัปดาห์ เพราะจะมีเลือดปนในปัสสาวะและทำให้การแปลผลคลาดเคลื่อน
  • การเอ็กซเรย์ ต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเสี่ยงตั้งครรภ์ หากมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบล่วงหน้า
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ต้องไม่อยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน หรือก่อนมีประจำเดือน 7 วัน

 

ทั้งนี้การ ตรวจสุขภาพประจำปี เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะระยะเริ่มต้นของโรคร้ายอาจแฝงตัวอยู่กับผู้ที่มีสุขภาพดีได้โดยที่ไม่รู้ตัว ซี่งการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้รู้ทัน โรคร้าย และสามารถรักษาป้องกันได้ ก่อนที่จะสายเกินไป

 

logoline