ไลฟ์สไตล์

ไขข้อข้องใจ 2 โรค 'อาการปวดหลัง' เหมือนกัน แต่ทำไมการรักษาต่างกัน

ไขข้อข้องใจ 2 โรค 'อาการปวดหลัง' เหมือนกัน แต่ทำไมการรักษาต่างกัน

21 พ.ย. 2566

แพทย์ไขข้อข้องใจ สภาวะ 'หมอนรองกระดูกยื่น' และ 'กระดูกสันหลังเคลื่อน' ผู้ป่วยจะมี 'อาการปวดหลัง' เหมือนกัน แต่วิธีการรักษาจะแตกต่างกัน เป็นเพราะอะไรไปทำความเข้าใจพร้อมกัน

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า ภาวะ กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของ กระดูกสันหลัง ข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือด้านหลังมากกว่าปกติ ส่วนมากมักพบบริเวณกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะต้องแบกรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกายความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมี อาการปวดหลัง บริเวณส่วนล่าง และจะมีอาการแย่ลงหลังการออกกำลังกาย โดยเฉพาะเมื่อมีการบริหารกระดูกบั้นเอว และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

  • อาการที่บริเวณหลัง จะปวดหลังเรื้อรัง และมักเกิดในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของหลังที่มีการขยับหลังมาก เช่น การก้ม เงย หรือเดิน 
  • อาการที่ขา ปวด ชา ล้า หนักที่บริเวณสะโพกหรือต้นขา 2 ข้าง อาการจะเป็นมากขณะเดิน และจะดีขึ้นเมื่อมีการก้มโค้งหลังหรือได้นั่งพัก ผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกว่าระยะทางที่เดินได้จะสั้นลงเรื่อยๆ หากโพรงประสาทตีบแคบมากอาจทำให้การควบคุมระบบขับถ่ายเสียไปได้

 

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค

 

 

ขณะที่ สภาวะ หมอนรองกระดูกยื่น เกิดจาก หมอนรองกระดูก ที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้ง 2 ข้อปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดคอหรือหลัง หากมีการกดทับมากอาจเสี่ยงต่อความพิการได้ โดยอาการที่แสดงอย่างเด่นชัด คือ อาการปวด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมาด้วยตำแหน่งของการปวดที่ต่างกันไป เช่น ปวดหลังล่าง ปวดบริเวณบั้นเอว หรือสะโพกร้าวลงขา ชา หรือเสียวเหมือนไฟช็อตร้าวลงขา ปวดคอ แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง มีปัญหาขณะก้มยกของ หรือทรงตัว หากเส้นประสาทถูกกดทับนานจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และระบบขับถ่ายมีปัญหา

 

ไขข้อข้องใจ 2 โรค \'อาการปวดหลัง\' เหมือนกัน แต่ทำไมการรักษาต่างกัน

 

 

การรักษา หมอนรองกระดูกยื่น

 

เมื่อผู้ป่วยมี อาการปวดหลัง และรับประทานยาแก้ปวดนานเกิน 1 เดือนแล้วและอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป หรือการเจาะรูส่องกล้อง ด้วยเทคนิค PSLD (Percutaneous Stenoscopic Lumbar Decompression) ที่บริเวณหลัง หรือ เทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) ที่บริเวณคอ ซึ่งทั้งสองเทคนิคนี้จะใช้อุปกรณ์ที่มีเลนส์กำลังขยายสูง ที่ติดอยู่ที่บริเวณปลายกล้องเอ็นโดสโคป เปรียบเสมือนดวงตาของแพทย์ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ และปลอดภัย สามารถรักษาเฉพาะส่วนที่มีปัญหาโดยที่ไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ปลอดภัย ฟื้นตัวเร็ว การรักษาด้วยวิธี MIS-Spine นี้จึงเป็นเรื่องง่ายและเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพักฟื้นเพียงแค่ 1 คืนก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

ไขข้อข้องใจ 2 โรค \'อาการปวดหลัง\' เหมือนกัน แต่ทำไมการรักษาต่างกัน

 

ปัจจุบันการรักษาโรค กระดูกสันหลังเคลื่อน ทับเส้นประสาท หรือกระดูกทับเส้นด้วยเทคนิคการยึดน็อตแบบ TLIF คือ การเชื่อมข้อ กระดูกสันหลัง เพื่อหยุดการเคลื่อนของกระดูกสันหลังของผู้ป่วย และเปลี่ยน หมอนรองกระดูกสันหลัง เทียมในผู้ป่วยที่ หมอนรองกระดูก เสื่อม ซึ่งในสมัยก่อนจะต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดแผล หลังจากนั้นวงการแพทย์ได้มีการพัฒนามาทำการผ่าตัดด้วยเทคนิค MIS TLIF ด้วยการใส่ท่อแล้วเลาะกล้ามเนื้อออกบางส่วน หลังจากนั้นจึงใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไป

 

ไขข้อข้องใจ 2 โรค \'อาการปวดหลัง\' เหมือนกัน แต่ทำไมการรักษาต่างกัน

 

แต่ล่าสุดด้วยเทคโนโลยีใหม่ทำให้การรักษาโรคกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดอาการปวดแผลของผู้ป่วยลงเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเดิมหลายเท่า ด้วยเทคนิค Full Endo TLIF (Full Endoscopic TLIF) คือ การใช้กล้องเอ็นโดสโคปเพื่อใส่หมอนรองกระดูกเทียมเข้าไป และทำการเชื่อมข้อ กระดูกสันหลัง ด้วยสกรูแบบเจาะรู ซึ่งวิธีนี้จะตัดกล้ามเนื้อน้อยที่สุด ทำลายโครงสร้างของกระดูกสันหลังน้อยมาก ความเสี่ยงต่ำ และแตกต่างจากเทคนิคเดิม อีกทั้งยังสามารถลดขนาดของบาดแผล และให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

 

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค

 

ทั้งนี้การเจาะและใช้อุปกรณ์ร่วมกันภายในรูเดียว หรือแบบ Full Endo TLIF ซึ่งวิธีนี้จะใช้อุปกรณ์กล้องที่มีความพิเศษสูง โดยมีช่องสำหรับใส่เครื่องมือเพื่อเข้าไปทำการรักษา โดยการนำ หมอนรองกระดูก ที่มีปัญหาออก และยังสามารถเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมได้ภายในรูเดียว โดยที่เครื่องมือนั้นไม่เข้าไปทำลายกล้ามเนื้อโดยตรง บอบช้ำน้อยกว่าการใช้อุปกรณ์แบบ 2 รู และการรักษาด้วยวิธีนี้ ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นเครื่องมือในการรักษาตลอดเวลา และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังทำการรักษาผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถเดินได้คล่องขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ป่วยที่มีเวลาน้อย การฟื้นตัวทำได้เร็วขึ้น ไม่ทรมาน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กลัวการผ่าตัด