Lifestyle

อึ้งเลย 'นอนหลับ' แบบนี้ เจอ 'ภาวะสมองเสื่อม' ปัจจัยเร่ง อัลไซเมอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลับไม่ดีมี สมองเสื่อม เปิดผลวิจัย สัญญาณเตือน 'นอนหลับ' แบบไหน เสี่ยง 'ภาวะสมองเสื่อม' แถมเจอปัจจัยเร่งการเกิด อัลไซเมอร์

เป็นที่รู้กันดีว่า การพักผ่อนที่ดีที่สุด น่าจะคือการ “นอนหลับ” แต่รู้หรือไม่ว่า แต่หากการนอนหลับของเรา มีความผิดปกติ หรือ นอนหลับไม่ดี ทั้ง หลับๆ ตื่นๆ งีบหลับ ฝันผวา ก็ทำให้เกิด “ภาวะสมองเสื่อม” ได้ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดย “หมอดื้อ” ได้นำข้อมูลบทความทางวิทยาศาสตร์วิชาการ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ สัญญาณแบบไหน ส่อถึงการนอนหลับ ที่ทำให้เกิด “ภาวะสมองเสื่อม”

ภาพประกอบ นอนหลับไม่ดี มีสมองเสื่อม

“นอนหลับ” แบบไหน เสี่ยงภาวะ “สมองเสื่อม”

 

 

นอนยาก นอนไปแล้วตื่นเป็นพักๆ นอนได้ไม่นาน จนกระทั่งนอน แล้วมีฝันร้าย ฝันผวา ฝันผจญภัย โดยพบว่า นอนแล้วฝันร้าย (nightmare) ฝันผวา (night terror) โดยที่มีพฤติกรรมหวาดกลัวถึงกับกรีดร้อง หรือมีการเหวี่ยงแขนขา แบบฝันผจญภัย สุ่มเสี่ยงกับสมองไม่ดี หรือ สมองเสื่อมเร็วมากขึ้น

 

 

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “หมอดื้อ” ได้ยกรายงานในวารสารแลนเซท e clinical medicine เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2023 จากภาควิชาประสาทวิทยา และศูนย์ Centre for Brain Health โรงพยาบาลและ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ พบว่า มีการประเมินโดยสอบถามจากแม่ของเด็กอายุได้ 7 ขวบ ในปี 1965 และ 11 ขวบ ในปี 1969 ว่า เด็กประสบกับฝันร้าย หรือฝันผวาหรือไม่ ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนเด็ก 6,991 ราย ซึ่งเป็นผู้หญิง 51% พบว่า 78.2% ไม่มีฝันร้ายเลย และ 17.9% มีฝันร้ายอยู่บ้าง แต่ 3.8% มีฝันร้ายเป็นประจำตลอดเวลา

   ภาพประกอบ นอนไม่ดีมีสมองเสื่อม

ต่อมาในปี 2008 เมื่อถึงอายุครบ 50 ปี พบว่า กลุ่มเด็กเหล่านั้นที่เติบโตขึ้นมา มีถึง 262 ราย ที่มีความผิดปกติทางสมองพุทธิปัญญา (cognitive impairment) และ 5 รายเป็นพาร์กินสัน หรือมีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น 76% และมากขึ้น 7 เท่า สำหรับโรคพาร์กินสัน

 

 

หมอดื้อ ระบุว่า กลไกของการควบคุมการตื่นและหลับนั้น เหมือนกับการ เปิด-ปิดสวิตซ์ โดยมี กลุ่มเซลล์สมองที่กระตุ้นให้ตื่น หรือเปิดสวิตซ์ WPN (wake-promoting neurons) ขณะที่สวิตซ์เปิด กลุ่มเซลล์ประสาทให้หลับ SPN (sleep-promoting neurons) จะถูกยับยั้ง ทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในบริเวณที่ลึกลงไปในเนื้อสมอง

 

 

ทั้งนี้ ผลวิจัย ระบุว่า ถึงแม้ว่าจะมีระยะเวลาของการนอนหลับค่อนข้างปกติ แต่มีการตื่นบ่อยเป็นระยะ (sleep fragmentation) พ่วงไปกับการงีบหลับบ่อยตอนกลางวัน และปลุกให้ตื่นยาก แถมยังมีสับสนตอนโพล้เพล้ จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์

     ภาพประกอบ การนอนหลับ

 

ดังนั้น ความผิดปกติของการนอนหลับ นอนยาก นอนไปแล้วตื่นเป็นพักๆ นอนได้ไม่นาน จนกระทั่งนอน แล้วมีฝันร้าย ฝันผวา ฝันผจญภัย ปัจจัยเหล่านี้ บ่งบอกถึงความแปรปรวนการทำงานของสมอง และลักษณะของสมองเสื่อมแบบต่างๆ นอกจากนั้น การนอนงีบหลับกลางวันบ่อยครั้ง หรือนานมากกว่า 2 ชั่วโมง ถ้าไม่ใช่เป็นการนอนทดแทนจากการที่ไม่ได้นอนตอนกลางคืน กลับเป็นตัวเร่งให้สมองเสื่อมแบบ อัลไซเมอร์ ได้

 

 

บทสรุป การนอนหลับไม่ใช่เป็นแต่เพียงระยะเวลาของการนอน 6 ถึง 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงคุณภาพของการนอนที่หลับลึก ไม่กระท่อนกระแท่น และไม่แทรกด้วยฝันร้าย ฝันผวา ฝันผจญภัยด้วย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ