ไลฟ์สไตล์

ตรวจ 'Sleep Test'  รู้ทัน 'โรคนอนกรน' และภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ

ตรวจ 'Sleep Test' รู้ทัน 'โรคนอนกรน' และภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ

18 พ.ย. 2566

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะ ตรวจ 'Sleep Test' รู้ทัน 'โรคนอนกรน' และภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือแก้ไข อาจมีผลกระทบต่อสมอง หัวใจ และร่างกายส่วนอื่นๆ ได้

การนอนเป็นสิ่งสำคัญ โดยปกติเราใช้เวลานอนเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวันหรือ 1 ใน 3 ของการใช้ชีวิต เพื่อให้ร่างกายพักผ่อน หลังจากการเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน แต่ยังมีบางคนที่ระหว่าง การนอนหลับ มีภาวะหายใจผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงสมองทำงานหนักและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในอนาคต

 

นพ.ธนกร ทรรศนียศิลป์

 

นพ.ธนกร ทรรศนียศิลป์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันพบคนที่มีปัญหา โรคนอนกรน เพิ่มสูงขึ้น  ซึ่ง การนอนกรน จะไม่เป็นอันตราย หากไม่มีภาวการณ์หายใจที่ผิดปกติหรือมี หยุดหายใจขณะหลับ ร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบ ในเวลาหลับเมื่อหลับสนิทอาจจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนติดขัดสะดุดไม่สม่ำเสมอ โดยบางช่วงจะมีช่วง กรน เสียงดังสลับกับเบาเป็นระยะๆ และจะมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการ หยุดหายใจ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตามมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่สมองจะตื่นตัวและทำให้ทางเดินหายใจเปิดและกลับมาหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งคืน เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้มากขึ้น ในระยะยาวถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดรวมถึงโรคสมองได้

 

 

อาการการนอนผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์คือ นอนกรน ผิดปกติ, รู้สึกง่วงนอนตอนกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่นอนอย่างเพียงพอ, สะดุ้งตื่นกลางคืนเพราะรู้สึกสำลักน้ำลายหรือจมน้ำบ่อยๆ มีความรู้สึกเหมือนหายใจเหนื่อยกลางคืน สงสัยมีการ หยุดหายใจขณะหลับ, มีคนสังเกตว่าพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนหลับ เช่น นอนขากระตุก กัดฟัน ละเมอ หรือฝันร้าย

 

​           

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยตรวจวินิจฉัย การนอนหลับ หรือ Sleep Test เพื่อแยกว่าเป็น การนอนกรน ประเภทใด และสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ว่า มี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มากหรือไม่และตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

 

 

 

  • การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของ การนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ ว่าหลับได้สนิทแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอน คลื่นสมองผิดปกติเช่นลมชักขณะหลับ
  • การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่
  • การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ และ หยุดหายใจ หรือหายใจเบาหรือไม่
  • การตรวจวัดลมหายใจ ที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยแค่ไหน
  • ตรวจเสียงกรน เพื่อดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรน ดังแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน
  • การตรวจท่านอน ในแต่ละท่านอนมีการกรน หรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร

 

การทำ Sleep Test หรือการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ ควบคุมดูแลโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทาง เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่าง การตรวจชนิดนี้สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนเป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทหรือไม่ และมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้าพบว่ามีการ หยุดหายใจ บ่อย อาจจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุด ที่ใช้รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

สำหรับการทำ Sleep Test จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจ การนอนหลับ ที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับอาจจะผิดพลาดได้ ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็กผลซ้ำอีกครั้งด้วยจึงจะเชื่อถือได้

 

แนวทางการรักษาหลังเข้ารับการตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีความผิดปกติของภาวะ นอนกรน โดยไม่พบการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วร่วมด้วย แนะนำจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ เช่น ลดน้ำหนัก เปลี่ยนพฤติกรรมการนอน หลีกเลี่ยงการนอนหงายเพราะจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย หลีกเลี่ยงยาและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ และมีการติดตามประเมินอาการกับแพทย์เป็นระยะ

 

ส่วนกรณีของภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ เกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมง แพทย์จะรักษาด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ซึ่งเป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 90-99% แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของวิธีนี้คือผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สะดวกสบายเพราะรู้สึกอึดอัดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP ในขณะนอนหลับ การรักษาทางเลือกด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายอาจช่วยแก้ไขการหยุดหายใจทำให้ไม่ต้องกลับไปใช้หรือลดการใช้เครื่อง CPAP ลงได้ ซึ่งการผ่าตัดปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และโครงสร้างความผิดปกติของโครงหน้า จมูก และปากของแต่ละคน

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจการนอนหลับหรือ standard PSG เป็นที่ยอมรับว่าเป็น Gold standard หรือการตรวจที่ดีที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคของการนอน โดยเฉพาะภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือแก้ไข อาจมีผลกระทบต่อสมอง หัวใจ และร่างกายส่วนอื่นๆ ได้ บางรายเป็นรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตขณะหลับได้