Lifestyle

'ปวดหลัง' ร้าวลงขา อย่ามองข้าม รีบรักษาก่อนลุกลามสู่อาการอ่อนแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ปวดหลัง' ร้าวลงขา อาจจะมีสาเหตุมาจาก 'โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท' หากเส้นประสาทเกิดการอักเสบจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดขา ชาขา แต่ถ้าไปกดทับที่เส้นประสาทเลย จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงชัดเจน

หนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานอาจเกิดอาการ ปวดหลัง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดขา ชาขา นพ.อัครวิทย์ อัศวศักดิ์สกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลรามคำแหง อธิบายว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการปวดหลัง หากเส้นประสาทเกิดการอักเสบจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดขา ชาขา แต่ถ้าไปกดทับที่เส้นประสาทเลย จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงชัดเจน โดยปกติแล้วหลังจากที่เกิดการอักเสบที่เส้นประสาทจะทำให้ปวดมากในช่วงแรกๆ แต่อีกประมาณ 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นแต่จะยังเหลืออาการปวดตึงๆ อยู่

 

นพ.อัครวิทย์ อัศวศักดิ์สกุล

 

 

อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยอาการ ซักประวัติ ที่ห้องตรวจก็พอจะทราบแล้วว่าอาการ ปวดหลัง มีสาเหตุจาก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือไม่ และถ้าสงสัยว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท แพทย์จะส่งผู้ป่วยเข้ารับการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI ซึ่งจะสามารถมองเห็นลักษณะของหมอนรองกระดูกที่มาทับเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน

 

เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างไร?

การรักษาทำได้หลายวิธี ส่วนใหญ่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยดูหลายอย่างตั้งแต่ตำแหน่ง ความรุนแรงของการกดทับ ความเสื่อมของตัวกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังของผู้ป่วยซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนที่จะทำการรักษา โดยการรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่การทานยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หรือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงประสาท เพื่อลดอาการปวด และในผู้ป่วยบางคนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น ยังมีอาการปวดมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ การผ่าตัดก็จะเป็นอีกทางเลือกในการรักษา

 

 

 เทคโนโลยีเอ็นโดสโคป (Endoscope) ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเป็นอย่างไร?

 

ด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของวงการแพทย์ที่มีการค้นคว้าและพัฒนาเรื่อยมา “กล้องเอ็นโดสโคป” เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก โดยศัลยแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดประมาณ 1 ซม. เข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับอยู่กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเลือกตัดเฉพาะส่วนของหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับเส้นประสาทออกได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออกใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วย เจ็บตัวน้อย แผลมีขนาดเล็ก เสี่ยงติดเชื้อต่ำ ฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ซึ่งผู้ป่วยบางคนผ่าตัดตอนเช้าแล้วตอนเย็นกลับบ้านได้เลยก็มี

 

หลังการผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยใส่แจ็คเก็ตรัดหลังไว้ประมาณ 6-8 สัปดาห์ และให้หลีกเลี่ยงการก้มๆ เงยๆ การบิดหรือเอี้ยวตัว งดการออกกำลังกายหนัก และห้ามยกของหนักในช่วงแรกๆ แต่สามารถว่ายน้ำ และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

** การรักษาโรคที่ต้นเหตุและได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยที่ดี จึงมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเป็นอย่างมาก **

 

 

logoline