Lifestyle

6 วิธีถนอมดวงตา จากหน้าจอ ถ้าไม่อยากเข้าใกล้ 'คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยอีกประเภทหนึ่งที่เกิดจากการทำงานออฟฟิศ เรียกว่า 'คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม' ได้เช่นกัน

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า ออฟฟิศซินโดรม หรือ อาการป่วยที่เกิดจากการทำงานออฟฟิศ ด้วยพฤติกรรมเคยชิน ทั้งจากลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ และโครงสร้างของร่างกายเป็นประจำ และการทำงานหน้า จอคอมพิวเตอร์ นานๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome หรือ CVS) ได้เช่นกัน

 

คอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม เป็นอาการป่วยที่เกิดจากการใช้สายตากับหน้า จอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รวมถึงแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดกับ 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นประจำ อาการของ คอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม รวมถึงอาการเคืองตา ตามัว แพ้แสง ไปจนกระทั่งอาการปวดศีรษะ ปวดคอ และหลัง ที่สำคัญ หลายๆ ครั้ง เราไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการใช้เวลากับหน้าจอมากจนเกินไปโดยไม่ได้ให้สายตาได้พัก และทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขที่ตรงจุด

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบัน การไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สิ่งสำคัญคงจะเป็นการป้องกันอาการป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการใช้สายตาในระดับที่เหมาะสม และให้สายตาได้พักเป็นระยะๆ

 

วันนี้จะมาแนะ 6 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกัน คอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม

 

  1. ปรับตำแหน่ง ระยะห่าง และมุมการมองจอให้เหมาะสม หน้าจอ ควรจะอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาของเราประมาณ 10-15 เซนติเมตร เพื่อให้เราสามารถก้มศีรษะลงเล็กน้อย และ เว้นระยะห่างระหว่างหน้าจอกับตาของเราให้เหมาะสม ระยะห่างที่เหมาะสมที่สุด คือประมาณ 50-60 เซนติเมตร
  2. ปรับแสงสว่างโดยรอบให้เหมาะสม และพยายามลดแสงสะท้อนจากหน้าจอ แสงสว่างที่มากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของดวงตา ขณะที่มีการใช้งานกับ จอคอมพิวเตอร์ เราสามารถปรับแสงสว่างให้ลดลงได้ โดยปริมาณแสงที่เหมาะสมคือความสว่างเพียงครึ่งหนึ่งของแสงสว่างภายในห้องปกติ ซึ่งเราสามารถลดปริมาณของแสงได้ด้วยการปิดม่าน หรือดับไฟบางดวงในห้องทำงานลงบ้าง นอกจากนั้น เพื่อช่วยลดแสงสะท้อนจากหน้าจอในกรณีที่แสงมาจากด้านหลังผู้ใช้ และป้องกันแสงจ้าจากหลังจอ กรณีที่แสงมาจากด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ เราควรจัดวางหน้าจอโดยให้แสงหลักมาจากด้านข้างของผู้ใช้งาน
  3. กระพริบตาบ่อยๆ และให้สายตาได้พัก สาเหตุของอาการตาแห้ง อาจมีสาเหตุมาจากการเพ่งสายตาเป็นเวลานานๆ เพราะฉะนั้น ในระหว่างการใช้งานกับจอคอมพิวเตอร์ อย่าลืมกระพริบตาบ่อย หรือในทุกๆ ระยะ 20 นาที ให้หลับตา สลับกับลืมตาช้าๆ ประมาณ 10 ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อจากการเพ่ง และลดอาการตาแห้ง
  4. พักสายตาเป็นระยะ หลังจากการใช้งานของสายตากับหน้าจอต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นเป็นระยะสั้นๆ โดยในทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาได้พักอย่างน้อย 15 นาที และในทุกๆ 20-30 นาที ของการใช้สายตากับหน้าจอ ควรพักสายตาด้วยการละสายตาจากจอ และมองออกไปไกลๆ ซัก 15-20 วินาที หรือ จะมองไกล สลับการการมองใกล้ๆ ครั้งละ 10-15 วินาที ทำอย่างนี้ซัก 10 ครั้ง ก็จะช่วยให้สายตาได้พักอีกด้วย
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่น้อยจนเกินไป นอกจากส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองกับดวงตาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมจัดตารางให้กับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  6. ตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความอ่อนไหว และควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ผู้ที่ใช้สายตากับหน้าจอเป็นประจำ ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูความผิดปกติทางสายตา หรืออาการป่วยที่อาจเกิดขึ้น เพราะการทราบถึงอาการผิดปกติในระยะแรก ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะรักษา หรือป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ การพบแพทย์ และตรวจความผิดปกติของสายตา เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ที่อาจเริ่มมีอาการทางสายตาที่เกิดตามวัยได้อีกด้วย

 

ได้ทราบกันไปแล้ว ถึงแนวทางการป้องกัน คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม อาการป่วยจากการใช้สายตากับ จอคอมพิวเตอร์ที่มากจนเกินไปที่อาจเกิดได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ถึงเวลาไปดูกันแล้วล่ะค่ะ ว่าหน้าจอของเราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือยัง ห้องทำงานมีปริมาณ และทิศทางของแสงที่พอเหมาะหรือไม่ และที่สำคัญ อย่าลืมให้สายตาได้พักบ้าง พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดตารางการดูแลสุขภาพตา ไปพบแพทย์เป็นระยะกันด้วยนะคะ

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ