Lifestyle

'หลอดเลือดสมอง' รู้เร็ว รักษาทัน ลดเสี่ยง อัมพฤกษ์ อัมพาต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'หลอดเลือดสมอง' เป็นโรคที่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ความรุนแรงสามารถทำให้มีภาวะ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

นพ.พงศกร พงศาพาส ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) เกิดจากการ หลอดเลือดสมอง มีการอุดตัน ตีบ หรือแตก ส่งผลให้สมองบริเวณดังกล่าวเกิดการบาดเจ็บ หรือขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์สมองเสียหาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หรือเดินเซ เป็นต้น โดยสามารถเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป และพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัยและหลายปัจจัย

 

นพ.พงศกร พงศาพาส

 

 

โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2  ประเภท ได้แก่

 

หลอดเลือดสมอง ตีบหรืออุดตัน เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ จากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด  หรือเกิดจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งสองแบบทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองเสียไป เกิดสมองภาวะขาดเลือดแบบเฉียบพลัน และเนื้อสมองตายขึ้น

 

หลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางจากภาวะความดันเลือดสูง หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากความเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้แตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และมีภาวะเนื้อสมองบริเวณดังกล่าวบาดเจ็บ

 

 

ปัจจัยเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมอง คือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง,  โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคไขมันโลหิตสูง, โรคอ้วน รวมไปถึงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก 

 

 

 

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจสมองด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพความละเอียดของเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ชัดมากกว่า โดยที่โรงพยาบาลเวชธานี มีเครื่องตรวจด้วย MRI รุ่นใหม่ ที่มีขนาดอุโมงค์ใหญ่กว่าเดิม,เสียงรบกวนลดน้อยลง, มีเทคโนโลยี Free Breathing ไม่ต้องกลั้นหายใจนานเท่าเดิม จึงทำให้คนไข้ไม่รู้สึกอัดอัดขณะตรวจ และให้การตรวจสามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว 

 

นอกจากนี้ยังมีการตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง และการตรวจหลอดเลือดคอ ซึ่งผลการตรวจที่แม่นยำจะสามารถช่วยให้แพทย์วางแผนการป้องกัน และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

การรักษา โรคหลอดเลือดสมอง แบบเฉียบพลัน ต้องทำการรักษารวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายต่อเซลล์ของสมอง โดยการรักษาที่ทำให้เลือดกลับไปไหลเวียนได้เหมือนปกติโดยเร็ว จะสามารถทำให้เนื้อสมองที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ โดยในระยะแรกที่เกิดอาการ แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วย หากมีข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและไม่มีข้อห้าม แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่มีหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์จะรักษาโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือข้อมือขึ้นไปยังเส้นเลือดสมอง เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดออกมา การรักษาที่สามารถทำได้รวดเร็ว ส่งผลให้การบาดเจ็บของสมองที่เกิดขึ้นน้อยลง และได้ผลลัพธ์การทำงานของสมองที่ดี

 

ปัจจุบันมีห้องผ่าตัดไฮบริด ที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดที่รวมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยไว้ด้วยกัน เช่น เครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือด ระบบนำทางด้วยคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือผ่าตัดส่องกล้อง 

 

โดยเทคโนโลยีการรักษาด้วยเครื่องเอ็กซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ Biplane Digital Subtraction Angiography หรือ Biplane DSA สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้สองระนาบในเวลาเดียวกัน คือ ด้านหน้า และด้านข้าง ภาพที่ได้ออกมาจึงมีความคมชัดช่วยให้แพทย์มองเห็นสายสวนหลอดเลือดที่ขนาดเล็กมากได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเห็นภาพเป็น 3 มิติ โดยสามารถทำการวัด คำนวณ และประเมินตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ช่วยลดปริมาณสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ ลดเวลาที่ใช้ในการรักษา และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น

 

Biplane DSA จะช่วยให้แพทย์สามารถใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แพทย์ทำการใส่สายสวนไปที่บริเวณลิ่มเลือดอุดตัน และฉีดยาละลายลิ่มเลือดในปริมาณเล็กน้อย เพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันได้โดยตรง หรือในกรณีที่ลิ่มเลือดอุดตันมีขนาดใหญ่ ก็สามารถใส่เครื่องมือพิเศษที่ใช้เกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตันได้ ทำให้เลือดกลับไหลเวียนสมองได้เป็นปกติ

 

 

การป้องกัน โรคหลอดเลือดสมอง ที่อาจทำให้เกิดอาการ ตีบ อุดตัน หรือแตก  คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง, เลิกสูบบุหรี่, ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง, ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, ลดการดื่มสุราและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ทั้งนี้ควรสังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้าง หากมีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมองให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะจะเพิ่มโอกาสการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติและลดความเสี่ยงการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ