Lifestyle

'ฟันผุ' ไม่ต้องอุดได้หรือไม่ และทำอย่างไร 'ฟัน' จะกลับมาแข็งแรงดังเดิม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การพบ 'ฟันผุ' โดยการตรวจฟันด้วยตัวเอง หรือโดยทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันเริ่มผุระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อหยุดกระบวนการของฟันผุโดยไม่ต้อง 'อุดฟัน'

หลายคนรู้อยู่แล้วว่า หากเรารักษาสุขภาพฟันไม่ดีหรือไม่ถูกวิธี อาจทำให้ ฟันผุ ได้ ซึ่งวิธีการรักษา คือ อุดฟัน แต่หากเราตรวจพบฟันผุตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เราสามารารถหยุดกระบวนการของฟันผุ ทำให้ไม่ต้องอุดฟันได้ โดยก่อนอื่น ทพญ.พรพรรณ อัศวาณิชย์ ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการด้านทันตกรรมเด็ก โรงพยาบาลรามคำแหง จะพาไปรู้จักลักษณะของฟันผุกันก่อน จะได้รักษากันอย่างถูกวิธี

 

ทพญ.พรพรรณ อัศวาณิชย์

 

 

ลักษณะของ ฟันผุ

 

1. ฟันผุ ระยะเริ่มแรก ในชั้นผิวเคลือบฟัน ฟันผุชนิดนี้จะยังไม่มีรู ลักษณะที่พบจะเป็นรอยขุ่นขาวบนด้านเรียบของ ฟัน หรือเป็นเส้นสีน้ำตาลดำในร่องฟัน การผุของฟันในระยะนี้มีความสำคัญมาก ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรักษาให้ฟันกลับแข็งแรงตามเดิม หยุดกระบวนการของฟันผุทำให้ไม่ต้อง อุดฟัน 

 

2. ฟันผุที่เห็นเป็นรู เมื่ออ้าปากตรวจฟันด้วยตัวเองแล้วพบฟันผุเป็นรูทั้งในชุดฟันน้ำนมและฟันแท้ แสดงว่าการผุของฟันอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อการรักษาทันที ไม่ควรรอจนรับประทานอาหารไม่ได้หรือมีอาการปวด ฟันผุที่ไม่รักษาสามารถลุกลามถึงประสาทฟันทำให้ต้องรักษารากฟัน หรือ ถอนฟัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง

 

'ฟันผุ' ไม่ต้องอุดได้หรือไม่ และทำอย่างไร 'ฟัน' จะกลับมาแข็งแรงดังเดิม

 

 

ทำไม ฟันผุ จะสามารถกลับไปแข็งแรงได้

 

ปัจจุบันทฤษฏี “Ecological plaque hypothesis” เชื่อว่าฟันผุเกิดจากสภาพแวดล้อมในปากที่ไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อโรคในพลัคที่ก่อให้เกิดกรดเจริญเติบโตได้ดี มีจำนวนมาก จึงผลิตกรดออกมาได้เยอะทำให้เกิดภาวะการสูญเสียแร่ธาตุ แคลเซียมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผิวเคลือบฟันจะละลายตัว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฟันผุ ฟันจะมีลักษณะขุ่นขาว เมื่อมีการสูญเสียของแคลเซียมมากขึ้นเรื่อยๆ โครงสร้างของฟันถูกทำลายจนเป็นรู ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาฟันผุจะเริ่มเร็วขึ้นตั้งแต่พบฟันผุระยะเริ่มแรกของผิวเคลือบฟัน โดยการปรับสมดุลในปาก เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการคืนกลับของแร่ธาตุ ทำให้ฟันไม่ผุลุกลามต่อจนเป็นรู

'ฟันผุ' ไม่ต้องอุดได้หรือไม่ และทำอย่างไร 'ฟัน' จะกลับมาแข็งแรงดังเดิม

การปรับสภาพในช่องปากที่เอื้อให้เกลือแร่คืนกลับ

 

  1. การแปรงฟัน ขจัดพลัคให้สะอาดด้วยการแปรงฟัน ทั้งในตอนเช้าและก่อนนอน
  2. การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1,450-1,500 พีพีเอ็ม ช่วยให้แคลเซียมคืนกลับสู่ผิวเคลือบฟัน เกิดผลึกผิวเคลือบฟันใหม่ที่แข็งแรง
  3. ปรับพฤติกรรมการกิน เชื้อแบคทีเรียในช่องปากใช้อาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลในการยังชีพ และมีการผลิตกรด พฤติกรรมการกินที่เหมาะสมจะลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ ดังนั้นควรมีนิสัยกินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ (อาหารเช้า-กลางวัน-เย็น) และกินอาหารว่างไม่เกินวันละ 2 ครั้ง/วัน การกินขนมควรกินในมื้ออาหาร หรือมื้ออาหารว่าง เท่านั้น นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากคือ การกินแต่ละมื้อไม่ควรใช้เวลาเกิน 20 นาที การใช้เวลาในการกินนาน ฟันมีโอกาสสัมผัสกับกรดนานทำให้เกิดการสูญเสียเกลือแร่มากขึ้น ดังนั้นเวลารับประทานควรหลีกเลี่ยงการเล่นเกม และการแชท 

 

'ฟันผุ' ไม่ต้องอุดได้หรือไม่ และทำอย่างไร 'ฟัน' จะกลับมาแข็งแรงดังเดิม

 

ทันตแพทย์จะช่วยรักษาอย่างไร?  

 

เมื่อตรวจพบรอยขุ่นขาวบน ฟัน รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อขัดฟัน ขจัดพลัคที่ติดบนตัวฟันให้สะอาด ทันตแพทย์จะทาฟลูออไรด์เฉพาะที่ความเข้มข้นสูงถึง 22,600 พีพีเอ็ม ทุก 3-6 เดือน เพื่อเร่งการคืนกลับของเกลือแร่ หยุดยั้งกระบวนการเกิด ฟันผุ ของผิวฟันด้านเรียบ ส่วนการผุระยะเริ่มแรกในบริเวณร่องฟัน ทันตแพทย์จะเคลือบพลาสติกร่องฟันเพื่อป้องกันไม่ให้พลัคเข้าไปสะสม

 

นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจถ่ายภาพรังสี เพื่อการตรวจอย่างละเอียดหารอยผุในบริเวณที่ไม่สามารถเห็นได้ การตรวจในช่องปากพบลักษณะรอยผุคล้ายรอยผุระยะเริ่มแรก ภายหลังจากการถ่ายภาพรังสีจะพบรอยผุขนาดใหญ่ใกล้โพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะสามารถรักษาฟันได้อย่างเหมาะสม ป้องกันการปวดฟัน และยับยั้งไม่ให้ฟันผุถึงประสาทฟัน

 

 

หยุดฟันผุ สร้างการคืนกลับของเกลือแร่...ก่อนฟันเป็นรู 

 

  1. แปรงฟันให้สะอาด ด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ 1,450 พีพีเอ็ม
  2. ปรับพฤติกรรมการกิน อาหารหลัก 3 มื้อ, อาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ
  3. ใช้เวลากินน้อยกว่า 20 นาที/มื้อ
  4. รีบไปพบทันตแพทย์

 

** ควรตรวจฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันฟันผุ และโรคปริทันต์ ฟันดี เหงือกดี ทำให้กินอาหารอร่อย**

 

logoline