Lifestyle

'โรคซึมเศร้า' บาดแผลที่มองไม่เห็น แต่รักษาหายได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในประเทศไทยพบว่า 'ซึมเศร้า' เป็นโรคที่พบมากอันดับ 1 ทั้งนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือบางคนอาจรู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา จนทำให้อาการรุนแรงขึ้น

ปัจจุบัน โรคซึมเศร้า เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะหากฟังข่าวอาญชากรรม หลายๆ กรณีผู้ก่อเหตุมักมีอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทยมีการจัดอันดับพบว่า “โรคซึมเศร้า” พบมากอันดับ 1 ทั้งนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือบางคนอาจรู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา จนทำให้อาการรุนแรงขึ้น

 

พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล

 

พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน, นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเศร้าหมอง เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ ในชีวิต รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า และอาจคิดฆ่าตัวตายได้

 

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า เกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม, การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง และเหตุการณ์ในชีวิตที่เครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง การถูกล่วงละเมิด เป็นต้น

 

           

อาการโรคซึมเศร้า จะแตกต่างจากความรู้สึกเศร้าโดยทั่วไป คือจะมีอาการเกือบตลอดทั้งวัน และอาการไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ ได้แก่

 

  • รู้สึกซึมเศร้า หรือกระวนกระวาย
  • สูญเสียความรู้สึกสนุก มีความสุขในการทำกิจกรรมที่เคยชอบ
  • มีความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมการกิน ความอยากอาหาร อาจมีการลดหรือเพิ่มของน้ำหนักแบบไม่เหมาะสม
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • รู้สึกหมดพลังงาน หมดไฟในการทำสิ่งต่างๆ
  • มีอาการทางกาย เช่น ปวดตำแหน่งต่างๆ โดยไม่มีสาเหตุที่ทำให้มีอาการอย่างชัดเจน
  • ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง
  • มีปัญหาด้านพฤติกรรมการนอนหลับ
  • ไม่สามารถจดจ่อกับการทำกิจกรรมใดๆ ได้ ไม่มีสมาธิ
  • ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจสิ่งต่างๆ แย่ลง
  • มีความรู้สึกผิด หรือรู้สึกไร้ค่า
  • มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่

 

\'โรคซึมเศร้า\' บาดแผลที่มองไม่เห็น แต่รักษาหายได้

           

 

การรักษาโรคซึมเศร้า จิตแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ ประวัติครอบครัว จากนั้นแพทย์จะทำการประเมินว่าควรรักษาในแนวทางใด โดยปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา ซึ่งแพทย์จะเริ่มให้ยาขนาดต่ำก่อน จากนั้นนัดติดตามผลการรักษา ก่อนจะปรับขนาดยาขึ้นทุกๆ 1-2 สัปดาห์ จนเห็นผลการรักษาที่ดี ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น อาจต้องกินยาต่อเนื่องอีก 4-6 เดือน จึงค่อยลดขนาดยาลงจนสามารถหยุดยาได้ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ, การรักษาด้วยจิตบำบัด และการรักษาด้วย TMS เป็นการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค เพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติและช่วยลดอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีผลข้างเคียงจากยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือรับประทานยาเกินหนึ่งปีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ เบื้องต้นให้สังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างว่า มีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากมีอาการเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำให้รีบไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ