29 ก.ย. 'วันหัวใจโลก' มุ่งเน้นให้ปชช.รับรู้ความสำคัญ ดูแลป้องกัน 'โรคหัวใจ'
29 ก.ย. 'วันหัวใจโลก' (World Heart Day) มุ่งเน้นให้ประชาชน รับรู้ถึงความสำคัญ ในการดูแลป้องกัน 'โรคหัวใจ' เพื่อดูแล หัวใจ ได้ดีขึ้น
29 ก.ย. ของทุกปีเป็น 'วันหัวใจโลก' (World Heart Day) โดยในปี 2566 ได้มุ่งเน้นให้ประชาชนรับรู้ความสำคัญในการดูแลป้องกัน โรคหัวใจ เพราะเมื่อเรารู้มากขึ้นเราก็สามารถดูแลหัวใจได้ดีขึ้น ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ระบุว่า โรคหัวใจ และ หลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 20 ล้านคน และร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตสามารถป้องกันได้
ปี 2565 พบการเสียชีวิตของคนไทยด้วย โรคหัวใจ และหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และการอักเสบที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิด โรคหัวใจ และ หลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์
หัวใจ ของมนุษย์เป็นอวัยวะที่พัฒนามาจากหลอดเลือด เป็นอวัยวะสำคัญในระบบหมุนเวียนเลือด อยู่บริเวณกึ่งกลางทรวงอกระหว่างปอดทั้งสองข้างเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย มี 4 ห้อง ได้แก่ ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง หัวใจห้องบนมีหน้าที่รับเลือด ส่วนหัวใจห้องล่างมีหน้าที่ส่งเลือด ระหว่างหัวใจห้องบนกับหัวใจห้องล่างมีลิ้นหัวใจ ลักษณะเป็นแผ่นเยื่อกั้นระหว่างห้องหัวใจ โดยลิ้นหัวใจมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
หัวใจ ทำหน้าที่รับเลือดและสูบฉีดเลือดไปตามหลอดเลือดเพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หัวใจจึงเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักและทำงานอยู่ตลอดเวลา จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2555-2559 พบว่า ประชากรของประเทศไทยมีอัตราการเจ็บป่วยและตายด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2557 พบอัตราการตายสูงเท่ากับ 38.5 คนต่อประชากร 100,000 คน
โรคหัวใจ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจโต ทำให้การหมุนเวียนเลือดผิดปกติ ส่วนใหญ่ในระยะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกชนิดคือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว.ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคหัวใจ ได้แก่ การได้รับสารทาร์และนิโคตินจากบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การเสพสารเสพติด การบริโภคอาหารที่มีลิพิดสูง การไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่มากเกินไป และการมีอารมณ์รุนแรงหรือเครียด รวมทั้งการสะสมลิพิดที่ผนังหลอดเลือด โรคบางอย่างเช่น โรคไตจะส่งผลให้ความดันเลือดสูงซึ่งมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นจึงควรจะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้
ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น กรณีที่หัวใจเต้นช้ากว่าปกติและไม่สม่ำเสมอ แพทย์จะใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (artificial pacemaker) เครื่องนี้จะทำให้เกิดสัญญาณไฟฟ้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้เป็นปกติ ปัจจุบันสามารถประดิษฐ์ลิ้นหัวใจเทียม เพื่อนำมาเปลี่ยนให้คนไข้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติได้
ข้อมูล : สสวท