Lifestyle

เช็กด่วน 5 สัญญาณเสี่ยงภาวะ 'หลอดเลือดอุดตัน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนะนำเช็กร่างกายดู 5 สัญญาณเตือนความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) พร้อมชวนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพิ่มการขยับร่างกาย และเช็กประเมินความเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหรือโรคต่างๆ ได้ก่อนจะสายเกินแก้

ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวันลิ่มเลือดโลก (WTD) กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ ช่วยอำนวยความสะดวก และเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้สร้างผลดีมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ยังเพิ่มความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะการเกิด "ลิ่มเลือด" ที่จะไปชะลอการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด และนำมาสู่ภาวะ "หลอดเลือดอุดตัน" ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงได้ 
 

"หลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis)" เป็นภาวะที่ลิ่มเลือดก่อตัวและไปอุดตันในหลอดเลือด จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือผนังหลอดเลือดผิดปกติ สามารถเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งหากลิ่มเลือดที่อุดตันหลุดไปตามกระแสเลือด จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและโรคอื่นๆ ตามมามากมาย จากรายงานของ International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) พบว่า 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลก หรือราว 100,000 คนในแต่ละปีเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ถือเป็นจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปีจากโรคเอดส์ มะเร็งเต้านม และอุบัติเหตุทางรถยนต์รวมกัน 


ศ.นพ.พลภัทร กล่าวเพิ่มว่า ในขณะที่ประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยประมาณปีละ 12,900-26,800 คน คิดเป็นอัตราผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรหนึ่งล้านคน  (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดราว 0.5 ต่อ 1,000 คนต่อปี ไม่เพียงเท่านี้ กว่า 30% ของผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) ในไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่ง VTE ในผู้ป่วยมะเร็งจะดื้อต่อการรักษา การทำกายภาพบำบัด และมีความผิดปกติของเลือดมากกว่าผู้ป่วย VTE ทั่วไป 
 

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อ "ภาวะหลอดเลือดอุดตัน" สามารถแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ ได้ดังนี้
1. การรักษาตัวในโรงพยาบาลและการผ่าตัด 
กว่า 60% ของผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตัน เกิดขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน หรือผู้ที่มีบาดเจ็บบริเวณหลอดเลือดจากการผ่าตัด ซึ่งการพักฟื้นเป็นระยะเวลานานจะทำให้ผู้ป่วยขยับตัวได้น้อยและนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้ 


2. ความเสี่ยงจากโรคร้าย 
ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลืออุดตันร้ายแรงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ผลการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 2 - 3% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์ในการรักษาอาจไม่ดีเท่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะลิ่มเลือด โดยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันจะขึ้นอยู่กับ ประเภทของมะเร็ง ขณะเดียวกันผู้ป่วยโรคหัวใจ จะมีการทำงานของหัวใจและปอดที่จำกัด เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดและภาวะหัวใจล้มเหลว


3. การใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ 
การใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน สามารถเพิ่มการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะหากสูบบุหรี่หรือมีน้ำหนักเกินร่วมด้วย ในขณะที่ การตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เลือดข้นทันทีหลังจากการปฏิสนธิ และจะข้นไปตลอดจนถึงประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ประกอบกับน้ำหนักของมดลูกที่กดทับหลอดเลือดดำในกระดูกเชิงกรานอาจทำให้เลือดไหลออกจากขาได้ช้าลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้ 


4. ความเสี่ยงจากพฤติกรรม 
การนั่งเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน หรือการนั่งในท่าที่เป็นตะคริวเป็นเวลานาน (มากกว่า 4 ชั่วโมง) จะทำให้เลือดไหลเวียนที่ขาช้าลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด ในขณะเดียวกัน การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน (VTE) และโรคร้ายแรงอื่น 


5. ความเสี่ยงทางกายภาพ 
หากมีบุคคลในครอบครัวเป็นหลอดเลือดอุดตันจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ในเพศหญิง อายุ 20 - 40 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชายจากการใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสหลอดเลือดอุดตันได้มากกว่า เพราะเลือดจะเหนียวมากขึ้น ในขณะที่ คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะมีความเสี่ยงมากขึ้น 2 - 3 เท่า จากเซลล์ไขมันที่ผลิตสารทำให้เลือดเหนียวขึ้น ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงพฤติกรรมส่วนบุคคลด้วย 


"กุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ดีที่สุดคือ "การป้องกัน" ซึ่งคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง อาทิ การเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการสูบบุหรี่ และนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน การขยับร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายและดีที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเข้าข่ายความเสี่ยง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงเป็นประจำ การรู้ล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะหรือโรคร้ายแรงที่จะตามมาได้ทันท่วงที" ศ.นพ.พลภัทร กล่าว
 

องค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis: ISTH) ได้จัดตั้ง "วันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD)’ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ความรู้ การป้องกันให้กับโรคที่เป็นภัยเงียบนี้ โดยในปี 2023 ได้ผลักดันแคมเปญ "60 For 60 Fitness Challenge" เชิญชวนทุกคนขยับร่างกายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 60 วินาที ทุกๆ 60 นาที ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินในสวนที่บ้าน เต้น กระโดดตบ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดนั่นเอง
 

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "ลิ่มเลือดอุดตันภัยเงียบที่ป้องกันได้" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็ง ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.worldthrombosisday.org, Facebook World Thrombosis Day และ Twitter @thrombosisday
#WTDay23 #WTD60for60 #WorldThrombosisDay #MoveAgainstThrombosis

logoline