ไลฟ์สไตล์

เข้าใจ 'ภาวะสมองเสื่อม' เพื่อดูแลคนใกล้ตัวอย่างถูกวิธี

21 ก.ค. 2566

'ภาวะสมองเสื่อม' ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นความเสื่อมตามวัย ส่งผลให้ความจำหรือการรับรู้บกพร่องไป หากคนใกล้ตัวของผู้ป่วยพามาพบแพทย์เร็ว ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมลงได้

แพทย์หญิงดวงกมล สิงห์วิชา อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ผู้ป่วย ภาวะสมองเสื่อม หรือผู้สูงอายุที่มีภาวะ สมองเสื่อม มักมีความผิดปกติของการรับรู้บกพร่องไป ซึ่งประกอบด้วยไปด้วยการรู้คิด 6 ด้าน ได้แก่ ความจำ, สมาธิจดจ่อ, การรับรู้ตำแหน่งของวัตถุต่างๆ, การวางแผน, การใช้ภาษา, และการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมักพบว่ามีการรู้คิดที่บกพร่องมากกว่า 1 ด้าน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง เช่น ไม่สามารถจัดยาเองได้ หรือเดินทางไปธุระคนเดียวแล้วหลงทาง

 

แพทย์หญิงดวงกมล สิงห์วิชา

 

 

ภาวะสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ มีทั้งสาเหตุที่สามารถรักษาได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคขาดวิตามินบี 12 เนื้องอกในสมอง โรคซึมเศร้า โรคเส้นเลือดในสมองตีบ และสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักในผู้ป่วยภาวะ สมองเสื่อม ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ส่วนโรคอื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองส่วนหน้าฝ่อผิดปกติ เป็นต้น

           

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษา ภาวะสมองเสื่อม ในกลุ่มที่สามารถรักษาได้ จะทำให้สมองของผู้ป่วยเหล่านั้นฟื้นฟูกลับมาสู่สภาวะปกติได้รวดเร็วกว่า ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ทั้งผู้ป่วย และญาติหรือผู้ดูแล รวมถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลในการวินิจฉัยมากที่สุด และอาจมีทดสอบการรู้คิด ด้วยแบบประเมินต่างๆ เพื่อบอกถึงความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมนั้น โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย 

 

 

ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ระดับวิตามินในเลือด หรือการตรวจพิเศษในผู้ป่วยบางราย เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง รวมทั้งการตรวจทางรังสี ไม่ว่าจะเป็น Computed Tomography (CT Scan), Magnetic Resonance Imaging (MRI) หรือ Positron Emission Tomography (PET) scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อตรวจการทำงานของสมองที่ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

           

หากผู้ป่วยมี ภาวะสมองเสื่อม จากสาเหตุที่รักษาได้ การรักษาที่ต้นเหตุจะเป็นการรักษาเพื่อทำให้สมองกลับมาทำงานได้ดี เกือบเท่าปกติ แต่หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค สมองเสื่อม จาก อัลไซเมอร์ การใช้ยารักษา เป็นเพียงแค่การชะลอความเสื่อมเท่านั้น เพื่อทำให้การรู้คิดหรือความจำที่ถดถอยดำเนินช้าลง 

 

นอกจากการใช้ยารักษาแล้ว การฝึกสมอง หรือการพัฒนาสมองด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นเกมส์ฝึกความจำ การพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัว หรือการออกกำลังกาย ล้วนแล้วแต่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ดีเทียบเท่ากับการรักษาโดยการใช้ยา ดังนั้น การฝึกพัฒนาสมองควบคู่ไปกับการใช้ยา จึงเป็นการรักษา ภาวะสมองเสื่อม จากอัลไซเมอร์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน