ไลฟ์สไตล์

รู้จัก โรคกิลแลง-บาร์เร GBS หลังเปรูประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยเพิ่มฉับพลัน

15 ก.ค. 2566

'โรคกิลแลง-บาร์เร' (Guillain-Barre Syndrome) หรือ GBS จัดอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่พบได้ค่อนข้างยาก เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีออกมาทำลายเซลล์ประสาทของระบบประสาทรอบนอกจนอักเสบ และสูญเสียการทำงาน

กลายเป็นเรื่องที่น่าตกใจ หลังประเทศเปรูประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ เป็นเวลา 90 วัน เนื่องจากเกิดผู้ป่วยในกลุ่มอาการ โรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) หรือ GBS  ที่ก่อให้เกิดอาการอัมพาตอย่างรวดเร็ว มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันถึง 165 ราย ในเวลาเพียงเดือนเดียว โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 รายที่เชื่อมโยงกับอาการ GBS วันนี้ คมชัดลึก จะพาไปรู้จักกับโรคนี้กันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร อาการเป็นอย่างไร และหากเป็นแล้วต้องรักษาด้วยวิธีใด

 

กลุ่มอาการ กิลแลง-บาร์เร หรือ GBS จัดอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่พบได้ค่อนข้างยาก เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีออกมาทำลายเซลล์ประสาทของระบบประสาทรอบนอกจนอักเสบ และสูญเสียการทำงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนแรง มึนงง เกิดเหน็บชาตามร่างกายในระยะแรก และอาการอาจรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอัมพาตในที่สุด

 

ปัจจุบันทางการแพทย์แบ่งกลุ่มอาการ โรคกิลแลง-บาร์เร หรือ GBS ออกเป็นหลายชนิด โดยชนิดหลักๆ ที่มักพบมีดังนี้

 

  • Acute Inflammatory Demyelinating Polyradiculoneuropathy: AIDP เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด อาการทั่วไปคือกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเริ่มจากอวัยวะส่วนล่างของร่างกายอย่างเท้าและขา แล้วค่อย ๆ ลุกลามขึ้นไปยังอวัยวะส่วนบน เช่น แขน ใบหน้า เป็นต้น
  • กลุ่มอาการมิลเลอร์ ฟิเชอร์ (Miller Fisher Syndrome: MFS) กลุ่มอาการ GBS ชนิดนี้พบบ่อยในชาวเอเชีย ผู้ป่วยจะเกิดอัมพาตบริเวณดวงตาเป็นอันดับแรก
  • Acute Motor-Sensory Axonal Neuropathy: AMSAN  และ Acute Motor Axonal Neuropathy: AMAN เป็นชนิดที่มักพบในคนจีน ญี่ปุ่น และเม็กซิกันเป็นหลัก

 

 

อาการของกลุ่ม โรคกิลแลง-บาร์เร หรือ GBS

ในระยะแรกมักเริ่มจากมีอาการเหน็บชา ตามส่วนล่างของร่างกาย เช่น หัวแม่เท้า เท้า และขา แล้วค่อยๆ ลุกลามไปยังแขนและนิ้วมือ จากนั้นจึงเริ่มมีอาการอื่นๆ ที่อาจสังเกตได้ ดังนี้

 

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยมักเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนล่างของร่างกาย เช่น บริเวณเท้าหรือขา แล้วลุกลามขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกาย
  • เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้าและดวงตาได้ลำบาก ส่งผลให้พูด เคี้ยว และกลืนอาหารลำบากไปด้วย
  • เดินลำบาก ท่าเดินไม่มั่นคง มีอาการเซ หรือเดินขึ้นบันไดไม่ได้
  • มีอาการปวดตามร่างกายอย่างรุนแรง อาจรู้สึกเจ็บคล้ายเป็นตะคริว และอาจปวดมากขึ้นในช่วงกลางคืน
  • ปวดหลังช่วงล่างอย่างรุนแรง
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก
  • อัมพาต มักเกิดขึ้นกับร่างกายทั้งซีกซ้ายและซีกขวา

 

หลังจากเริ่มแสดงอาการในระยะต้น เช่น เหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการของผู้ป่วยจะทรุดลงใน 2-4 สัปดาห์ และเข้าสู่ระยะฟื้นตัวเมื่อถึงช่วงสงบของโรคใน 2-4 สัปดาห์ต่อมา ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแย่ลงมากภายในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงได้เช่นกัน

 

สาเหตุของกลุ่ม โรคกิลแลง-บาร์เร หรือ GBS

 

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายหันมาทำลายเซลล์ประสาทของระบบประสาทรอบนอก ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยแปลงสัญญาณจากสมองเพื่อส่งไปยังกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไหวตามคำสั่ง เซลล์ประสาทจะเกิดการอักเสบและสูญเสียการทำงาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อรับสัญญาณที่สมองส่งมาไม่ได้และมีอาการดังข้างต้น

 

ทั้งนี้ กลุ่มอาการ กิลแลง-บาร์เร หรือ GBS เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ป่วยส่วนมากอยู่ในวัยผู้ใหญ่ และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของกลุ่มอาการนี้ แต่เชื่อว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ ได้แก่

 

  • การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เจจูไน ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียและเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก รวมถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากเชื้อโรคอื่นๆ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส โรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ โรคปอดอักเสบจากไมโคพลาสม่า เป็นต้น
  • วัคซีน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

 

การวินิจฉัยกลุ่มอาการ กิลแลง-บาร์เร หรือ GBS

 

โดยปกติผู้ป่วยมักแสดงอาการคล้ายคลึงกับผู้ที่มีระบบประสาทเสียหายจากสาเหตุอื่น เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือภาวะพิษจากโลหะหนัก ทำให้การวินิจฉัยอาการในขั้นแรกนั้นทำได้ค่อนข้างยาก แพทย์จึงต้องสอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้โรค ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนี้

 

  • การเจาะน้ำไขสันหลัง คือการเจาะไขสันหลังช่วงล่างเพื่อนำของเหลวที่เรียกว่าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมาตรวจวัดระดับโปรตีน เนื่องจากผู้ป่วย GBS มักมีระดับโปรตีนในของเหลวชนิดนี้สูงกว่าปกติ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ คือการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อ เพื่อวินิจฉัยว่าอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นมีสาเหตุมาจากความเสียหายของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อกันแน่
  • การตรวจการชักนำประสาท คือการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กทดสอบการตอบสนองของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

 

การรักษากลุ่มอาการ กิลแลง-บาร์เร หรือ GBS

 

กลุ่มอาการนี้ไม่มียาหรือวิธีรักษาเฉพาะ แต่ร่างกายคนเราสามารถเยียวยาตัวเองให้หายได้ เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลา แนวทางการรักษาจึงทำโดยประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ดังนี้

 

  • การแลกเปลี่ยนพลาสม่า มีจุดประสงค์เพื่อกำจัดแอนติบอดีผิดปกติในพลาสม่าที่เข้าทำลายเซลล์ประสาท โดยจะถ่ายเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยแล้วใช้เครื่องมือพิเศษแยกแอนติบอดีที่ผิดปกติออกจากเลือด จากนั้นจึงนำเลือดที่ปราศจากแอนติบอดีดังกล่าวกลับคืนสู่ร่างกาย
  • ารบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน คือการรักษาด้วยการให้อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งนอกจากจะมีแอนติบอดีที่ดีต่อร่างกายเป็นองค์ประกอบแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการทำงานของแอนติบอดีที่ผิดปกติอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาด้วยการแลกเปลี่ยนพลาสม่าหรือการบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลินนั้นมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์และความพอใจของผู้ป่วยเป็นหลัก
  • วิธีการรักษาอื่นๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการทำกายภาพบำบัดในช่วงก่อนและระหว่างที่รอฟื้นตัว เพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจได้รับยาบรรเทาอาการปวดและป้องกันเกล็ดเลือดจับตัวเป็นลิ่มในระหว่างที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้

 

ข้อมูลจาก : www.pobpad.com