Lifestyle

8 ปัจจัยเสี่ยงเป็น 'ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ' หมอเตือน ส่งผลเสียสุขภาพระยะยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 8 ปัจจัยเสี่ยงเป็น 'ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ' หรือ 'โรคหยุดหายใจขณะหลับ' หมอเตือน ส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว เสี่ยง หัวใจวาย ได้

'โรคหยุดหายใจขณะหลับ' หรือ 'ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ' เป็นโรคที่ถูกพูดถึงขึ้นมา เมื่อมีภาพของนักการเมืองท่านหนึ่ง 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั่งหลับขณะประชุมสภาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจากภาพจะเห็นว่า 'บิ๊กป้อม' นั่งก้มหน้ามองพื้นในสภาพเหมือนนั่งหลับ ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาบอกปฏิเสธว่า ภาพที่เห็นนั้น แค่นั่งก้มหน้า ไม่ได้นั่งหลับแต่อย่างใด

 

ล่าสุดทางด้าน 'หมอหม่อง' นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ได้ออกมาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ถึงภาพดังกล่าว พร้อมกล่าวเป็นห่วงว่า "ในฐานะแพทย์ มองอาการแบบนี้แล้วก็เป็นห่วง"

 

การหงอยหลับกลางวัน (Daytime somnolence) เป็นอาการหนึ่ง ของ 'โรคหยุดหายใจขณะหลับ' หรือ ทางเดินหายใจอุดกั้นตอนกลางคืน หรือ โรคกรน Obstructive sleep apnea (OSA)

 

การหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ตอนกลางคืน ทำให้ไม่สามารถหลับลึก ร่างกาย สมอง ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ความดันโลหิต สูงตอนกลางคืน (nocturnal hypertension)  ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น สมองไม่แจ่มใส ใครมีอาการแบบนี้ อย่านิ่งนอนใจ มันส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว เพิ่มความเสี่ยง หัวใจวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

 

แนะนำให้ไปทำ sleep test (polysomnography) หากเป็นรุนแรง แนะนำให้ใช้ เครื่อง CPAP ใส่นอนครับ

 

 

หมอหม่อง

 

บิ๊กป้อม

 

'โรคหยุดหายใจขณะหลับ' หรือ 'ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ' (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณลำคอเกิดการคลายตัวเป็นช่วงๆ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้นในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะกรนเสียงดังและหายใจลำบากในขณะนอนหลับ เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำกิจกรรมในระหว่างวัน พบได้มากในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น

 

 

อาการของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

ผู้ที่นอนอยู่ข้างๆ มักจะเป็นผู้ที่สังเกตอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ เช่น กรนเสียงดัง หายใจลำบาก ติดขัด หรือหายใจเสียงดังออกทางจมูก หรือสามารถพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

 

  • ง่วงมากในระหว่างวัน
  • ปวดศีรษะในช่วงเช้า
  • ปากแห้ง หรือเจ็บคอ
  • สมาธิลดลง
  • เหงื่อออกมากในขณะนอนหลับ
  • ตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิด หรือหดหู่
  • ความดันโลหิตสูง
  • ความต้องการทางเพศลดลง

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่นอนกรน และการนอนกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ได้ ควรไปปรึกษาแพทย์หากพบว่ามีการกรนเสียงดังรบกวนการนอนของตัวเองหรือผู้ที่นอนอยู่ข้างๆ ตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก หยุดหายใจเป็นระยะในขณะนอนหลับ หรือรู้สึกง่วงมากขณะทำกิจกรรมระหว่างวัน

 

 

สาเหตุของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

เมื่อกล้ามเนื้อที่บริเวณหลังลำคอ รวมถึงเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล และลิ้น คลายตัวมากเกินไปจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้นในขณะหายใจเป็นเวลาประมาณ 10-20 วินาที สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ตั้งแต่ 5-30 ครั้งหรือมากกว่านั้นในทุกๆ 1 ชั่วโมง นานตลอดทั้งคืน จะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง ตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก นอนหลับไม่สนิท และทำให้รู้สึกง่วงในระหว่างวัน

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

 

  • น้ำหนักตัวเกิน ทำให้ไขมันไปสะสมที่เนื้อเยื่อในลำคอมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีคอหนาหรือมีขนาดของรอบคอมากกว่า 43 เซนติเมตร จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง หายใจลำบากมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ทางเดินหายใจแคบ อาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม หรือมีต่อมทอนซิลหรือต่อมแอดีนอยด์ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองอยู่บริเวณหลังโพรงจมูกและลำคอโต ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้น
  • เยื่อบุโพรงจมูกบวมโตหรือภาวะคัดจมูก รวมถึงผู้ที่มีผนังกั้นช่องจมูกคดและผู้ป่วยริดสีดวงจมูก จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง และมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากถึง 2 เท่าของคนทั่วไป
  • เพศ เพศชายจะมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า และสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวมากกว่าปกติ
  • พันธุกรรม พบได้มากในผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • อายุ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบมากขึ้นในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด เป็นต้น
  • พฤติกรรมต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากโดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน รวมถึงการรับประทานยาระงับประสาท ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ เป็นต้น

 

 

การรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่ไม่รุนแรงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน ออกกำลังกายเป็นประจำ เลิกสุบบุหรี่ เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

 

เครื่องมือในช่องปากแบบกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้ (Mandibular Advancement Device: MAD) โดยจัดระเบียบกรามและลิ้นให้ขยับขึ้นมาด้านหน้า เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่บริเวณหลังคอ ทำให้ผู้ป่วยกรนน้อยลง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงน้อย

 

เครื่องเป่าความดันลมเพื่อขยายทางเดินหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) มีลักษณะเป็นหน้ากากสวมใส่ที่บริเวณจมูกและปาก ซึ่งจะช่วยส่งอากาศอย่างต่อเนื่องไปยังระบบทางเดินหายใจในขณะที่นอนหลับ เพื่อลดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน บรรเทาอาการกรน ความอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้าในระหว่างวัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงปานกลางถึงมาก

 

การผ่าตัด แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่การรักษาด้วยอุปกรณ์ข้างต้นไม่สามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยลงได้ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอาการรุนแรงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การผ่าตัดอาจทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

 

  • การผ่าตัดต่อมทอนซิล ในกรณีที่ต่อมทอนซิลโตและอุดกั้นทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ
  • การผ่าตัดต่อมแอดีนอยด์ เป็นต่อมขนาดเล็กที่อยู่เหนือต่อมทอนซิล หากต่อมโตจะอุดกั้นทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ
  • การผ่าตัดเพดานอ่อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อและลดการสั่นของเพดานอ่อนในขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการนอนกรน หรือการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อน
  • การผ่าตัดรัดกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะส่งผลให้อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้

 

การเจาะคอและใส่ท่อที่ลำคอ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกมากขึ้นในขณะนอนหลับ มักใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา

 

การรักษาโดยใช้ยา เช่น มอนเทลูคาส ลิวโคทรีน หรือยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จะช่วยบรรเทาอาการในเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบไม่รุนแรง

 

 

การป้องกัน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

การป้องกันสามารถทำได้โดยการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

 

  • ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน จะช่วยลดการหดตัวของทางเดินหายใจ ลดการกรน และทำให้ไม่ง่วงในระหว่างวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น แอโรบิก หรือเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับลงได้
  • นอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะเพิ่มโอกาสให้ลิ้นไปปิดกั้นทางเดินหายใจ หากกังวลว่าจะกลับมานอนหงายในระหว่างการนอนหลับ ให้ลองเย็บกระเป๋าเล็ก ๆ บริเวณด้านหลังเสื้อนอน แล้วใส่ลูกเทนนิสลงไป
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้คัดจมูก และหายใจไม่สะดวก
  • ลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาระงับประสาท เพื่อลดโอกาสที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวและปิดกั้นทางเดินหายใจ

 

การนอนหลับ

 

 

ข้อมูล : Pobpad

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ