ไลฟ์สไตล์

'ลำไส้อักเสบเรื้อรัง' อย่าชะล่าใจ ปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยง 'มะเร็งลำไส้ใหญ่'

'ลำไส้อักเสบเรื้อรัง' อย่าชะล่าใจ ปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยง 'มะเร็งลำไส้ใหญ่'

11 มิ.ย. 2566

เตือนภัย...หากมีอาการปวดเกร็งท้องหรือท้องเสีย เป็นๆ หายๆ ควรระวังเพราะเป็นสัญญาณว่าอาจเป็นโรค 'ลำไส้อักเสบเรื้อรัง' และหากชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจนำไปสู่การเป็นโรค 'มะเร็งลำไส้ใหญ่' ได้ในที่สุด

พญ.ศศิพิมพ์ จามิกร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการอักเสบของทางเดินอาหาร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่อาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยด้านพันธุกรรม ซึ่งมักพบในยุโรปและอเมริกามากกว่าแถบเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบโรคนี้มากขึ้นในประเทศไทย เราจึงควรให้ความสำคัญ, มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ผิดปกติจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง, ปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ความเครียด เป็นต้น

 

พญ.ศศิพิมพ์ จามิกร

 

 

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ อาการจะเกิดที่บริเวณลำไส้ใหญ่เป็นหลัก อาจอักเสบจนเป็นแผลและลุกลามเฉพาะเนื้อเยื่อชั้นตื้นๆ ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ท้องเสียเป็นๆ หายๆ ถ่ายมีมูกปนเลือด มีอาการปวดท้อง รวมถึงอาจมีอาการข้ออักเสบหรือมีไข้ร่วมด้วย
  • โรคโครห์น อาการสามารถเกิดขึ้นในกับระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้ป่วยอาจมีอาการที่หลากหลาย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายปนมูกหรือเลือดสด มีไข้ น้ำหนักลง ภาวะซีดหรือโลหิตจางร่วมด้วย

 

 

\'ลำไส้อักเสบเรื้อรัง\' อย่าชะล่าใจ ปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยง \'มะเร็งลำไส้ใหญ่\'

 

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ คือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจดูผนังลำไส้ ช่วยให้แพทย์เห็นแผลภายในลำไส้ได้อย่างชัดเจน และสามารถนำชิ้นเนื้อบริเวณที่มีการอักเสบมาตรวจทางพยาธิ เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

              

ปัจจุบันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เริ่มรักษาด้วยการรับประทานยา ซึ่งการเลือกชนิดยาแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงและตำแหน่งของการอักเสบ หลังได้รับยาแล้วผู้ป่วยควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น โดยทั่วไปมักมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลโภชนาการของตัวเอง โดยแนะนำให้รับประทานให้ครบ 5 หมู่ สัดส่วนต่อมื้อน้อยลง ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน

              

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง โรคจะสงบและผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะเดียวกันหากไม่รับการรักษาและปล่อยให้ลำไส้อักเสบเรื้อรังไปเรื่อยๆ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียสารอาหารที่จำเป็น และเกลือแร่ รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจอาจนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้” พญ.ศศิพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย