เปิด 4 พฤติกรรมเสี่ยง เป็น 'มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ'
หากไม่อยากเป็น 'มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ' เปิด 4 พฤติกรรมเสี่ยง เป็น โรคมะเร็ง ชนิดนี้ พร้อมเช็กอาการ ทั้งระยะเริ่มต้น จนถึงลุกลาม
หากพูดถึง “โรคมะเร็ง” ถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรไทย ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุด จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันคนไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี และเสียชีวิตวันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี
“มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ” ก็นับเป็น มะเร็ง ที่พบได้บ่อยสุด ในกลุ่มของมะเร็งทางเดินปัสสาวะ และพบได้มากเป็นอันดับ 6 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย รองจาก มะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ชาย มากกว่าผู้หญิง ประมาณ 3-4 เท่า และพบได้มากในช่วงอายุ 50-70 ปี
นพ.คมกฤช มหาพรหม อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลนครธน ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่แท้จริงของ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ยังไม่ทราบแน่ชัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องปัสสาวะเป็นเลือด และส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวดร่วมด้วย บางรายมีปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัดร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยเรื่องปัสสาวะมีเลือดปน จะต้องรีบทำการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริง หากตรวจพบโรคได้เร็วก็จะมีโอกาสหายได้มาก
4 ปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่สามารถดูดซึมสู่กระแสเลือด และขับถ่ายออกทางกระเพาะปัสสาวะได้ การสูบบุหรี่จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- สูดดมสารเคมี หรือได้รับสารเคมีที่อันตรายบางชนิด เช่น สารอะนีลิน หรือไฮโดรคาร์บอน เช่น สีย้อมผ้า น้ำยาย้อมผ้า อุตสาหกรรมเสื้อผ้า
- รับประทานอาหารที่มีไนเตรทสูง เช่น เนื้อสัตว์ เบคอน ผักบางชนิด
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการนี้ และอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยไม่มีอาการปวดอื่นๆ ร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีเพียงอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด
- บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบ หรือขัด เนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะ
- หากเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะลุกลามแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่
- ภาวะซีด ปวดหลัง หรือเกิดโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวาย ซึ่งเกิดจากการลุกลามของโรคมะเร็งไปอุดตันท่อไต
- เมื่อก้อนมะเร็งไปกดเบียดทับลำไส้ใหญ่ จะเกิดอาการท้องผูก
- เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง จะคลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่ขาหนีบหรือเหนือไหปลาร้า
- เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ปอด จะมีอาการไอ หายใจลำบาก
- เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่กระดูก จะมีอาการปวดกระดูก
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
เบื้องต้นแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกาย พร้อมเก็บปัสสาวะตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเมื่อพบเม็ดเลือดหรือเซลล์มะเร็งปนอยู่ แพทย์จะทำการส่งตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่
- การส่องกล้องเพื่อตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นการตรวจที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่สามารถตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวน และรูปร่างของเนื้องอก โดยทั่วไปการตรวจมักบอกได้ค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และในกรณีสงสัยแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- บางรายอาจมีการตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ (Urine cytology) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) อก/ช่องท้อง และการตรวจ PEI-CT เพื่อดูว่ามีการกระจายของมะเร็งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่
ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุป หากไม่อยากเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะจะมีการคั่งค้างขอสารก่อมะเร็งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน และหากปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมสี สายไฟฟ้า และพลาสติก ควรระวังขณะรับประทานอาหาร เพราะสีอาจติดมือปะปนอยู่ในอาหารได้ ฉะนั้นจึงควรล้างมือให้ สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง