Lifestyle

'โรคคลั่งผอม' เกิดจากสาเหตุใด อันตรายหรือไม่ หากเป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โรคคลั่งผอม' เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากปัญหาทางด้านจิตใจเป็นหลัก จัดเป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเองมากจนเกินไป

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก เมื่อนักแสดงหลายคนคร่ำเคร่งกับการลดน้ำหนัก จนเห็นได้ชัดว่ารูปร่างที่เคยสมส่วนนั้น ผอมลงอย่างแบบผิดหูผิดตา ในขณะที่หลายคนมองว่าสาวๆ เหล่านั้นเป็น “โรคคลั่งผอม” ซึ่งวันนี้ คมชัดลึก จะพาไปทำความรู้จักว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใด อันตรายหรือไม่ หากเป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร

 

รศ. ร.อ. นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคคลั่งผอมหรือที่เรียกว่า Anorexia Nervosa ผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง โดยกลัวว่าจะอ้วนเกินไป เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่เคยมีปัญหาเรื่องรูปร่างและในคนที่มีรูปร่างปกติอยู่แล้ว ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะพยายามควบคุมน้ำหนักให้ต่ำลงเรื่อย ๆ กระทั่งต่ำกว่ามาตรฐาน รูปร่างของผู้ป่วยจะผอมมากจนเห็นได้ชัด แต่ผู้ป่วยก็ยังไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และลดน้ำหนักต่อไป หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

 

 

'โรคคลั่งผอม' เกิดจากสาเหตุใด อันตรายหรือไม่ หากเป็นแล้วต้องรักษาอย่างไร

 

ประเภทของโรคคลั่งผอม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

 

  • อดอาหารหรือออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
  • อดอาหารหรือออกกำลังกายร่วมกับกระตุ้นให้อาเจียนออกมา

 

 

สาเหตุของโรคคลั่งผอม

 

จุดเริ่มต้นของโรคคลั่งผอม คือผู้ป่วยจะไม่พอใจในตนเอง เกิดจากพื้นฐานความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ หรือยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง เช่น เป็นคนเรียนดี หรือมีความสามารถด้านอื่นที่ดี แต่คนกลุ่มนี้มักมีความคาดหวังในตนเองสูงเกินไป และไม่รู้สึกพอใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น อยากทำให้สำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อถูกกระตุ้นในเรื่องของรูปร่าง เช่น โดนทักว่าอ้วน ผู้ป่วยจะกังวลเกี่ยวกับรูปร่างตนเองมากเกินไป และเริ่มควบคุมน้ำหนัก เมื่อน้ำหนักลดลงจะรู้สึกภูมิใจที่ทำได้ แต่จะยังไม่พอใจในรูปร่างและอยากลดน้ำหนักต่อไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่น้ำหนักลดลงผู้ป่วยจะภูมิใจและมั่นใจ กระทั่งน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานและอาจเป็นอันตรายในที่สุด

 

การรักษาโรคคลั่งผอม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

 

  1. การรักษาทางด้านร่างกาย หากพบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลงมากกระทั่งอยู่ในเกณฑ์อันตราย แพทย์จะบังคับให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร หรืออาจใช้วิธีให้อาหารทางหลอดเลือด เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
  2. การรักษาทางด้านจิตใจ ต้องดูที่สาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากครอบครัว แพทย์จะใช้การรักษาแบบครอบครัวบำบัด คือให้สมาชิกในครอบครัว บอกกับผู้ป่วยให้รู้ถึงคุณค่าในตนเอง อาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของพ่อแม่ด้วย ไม่ให้คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป แต่ถ้าหากเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะทำการรักษาไปตามสาเหตุนั้น

 

โรคคลั่งผอม เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากปัญหาทางด้านจิตใจเป็นหลัก จัดเป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเองมากจนเกินไป ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และอาจเสียชีวิตได้

logoline