Lifestyle

'ปวดท้องแบบไหนเป็นไส้ติ่ง' เช็กอาการเริ่มต้น ไส้ติ่งอักเสบ ปวดท้องต่างกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากคำถาม 'ปวดท้องแบบไหนเป็นไส้ติ่ง' เช็กอาการเริ่มต้น 'ไส้ติ่งอักเสบ' สัญญาณเตือนก่อน ไส้ติ่งแตก อันตรายถึงชีวิต

หากพูดถึง “ไส้ติ่ง” อวัยวะส่วนหนึ่งของทางเดินอาหาร ลักษณะเป็นท่อปลายตัน ยาวประมาณ 3-4 นิ้ว หน้าที่ของไส้ติ่งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า อาจมีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน และสะสมเชื้อแบคทีเรียที่ช่วยในระบบการย่อยอาหาร

 

 

แล้ว “ปวดท้องแบบไหนเป็นไส้ติ่ง” หรือ ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร เชื่อว่าหลายคน มีความสงสัย ว่าปวดท้องไส้ติ่งอักเสบ อาการจะเหมือนกับปวดท้องโรคกระเพาะ, จากภาวะท้องเสีย หรือไม่ บางครั้งแยกไม่ออก กว่าจะรู้ตัวก็เสี่ยงต่อการเกิด “ไส้ติ่งแตก” ที่อันตรายถึงชีวิต ลองมาเช็กอาการเริ่มต้น สัญญาณเตือน ไส้ติ่งอักเสบ ก่อนรุนแรง

 

ไส้ติ่งอักเสบ

ปวดท้องแบบไหนเป็นไส้ติ่ง

 

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มแรกที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน จะมีอาการปวดท้องบริเวณรอบสะดืออย่างฉับพลัน จุกแน่นท้อง เบื่ออาหาร ทำให้ลักษณะอาการ ใกล้เคียงกับโรคอื่น เช่น โรคกระเพาะ, โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือ โรคท้องเดิน
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ไส้ติ่งเริ่มบวม จะทำให้ปวดท้องบริเวณตำแหน่งของไส้ติ่ง คือ บริเวณท้องน้อยด้านขวา ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ไอ จาม จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น บางรายอาจมีท้องเสียร่วมด้วย และที่สำคัญ ไม่สามารถบรรเทาอาการปวด ด้วยการทานยาได้
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่อันตราย เพราะไส้ติ่งแตก และเชื้อแบคทีเรีย กำลังแพร่กระจายในช่องท้อง จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ขึ้น และหากไม่ได้รับการผ่าตัด จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด เช่น ไข้สูง ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลียอย่างมาก ส่งผลให้เสียชีวิตได้

 

“ไส้ติ่งแตก” ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต

 

“ไส้ติ่งแตก” เป็นภาวะที่เกิดขึ้น หลังไส้ติ่งอักเสบ แต่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โดยหลังเกิดการอักเสบ ผนังไส้ติ่งอาจเน่า และแตกทะลุภายใน 24-36 ชั่วโมง และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาภาวะไส้ติ่งแตกในทันที อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ไส้ติ่งอักเสบ

การรักษา “ไส้ติ่งอักเสบ”

 

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน การรักษาที่เหมาะสม คือ การได้รับการผ่าตัดเอาไส้ติ่งที่อักเสบออกมาโดยเร็ว ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

 

การผ่าตัดไส้ติ่งมี 2 แบบ

 

  • การผ่าตัดแบบเปิด (Open Appendectomy) โดยมีบาดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวา ตรงตำแหน่งของไส้ติ่งที่อักเสบ
  • การผ่าตัดไส้ติ่งโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Appendectomy) ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะแผลขนาดเล็ก และเลือกตำแหน่งของแผลผ่าตัด เพื่อความสวยงามได้ ปวดแผลน้อย ใช้เวลาพักฟื้นน้อย และที่สำคัญคือ แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนจากกล้อง ทำให้ผลการผ่าตัดมีความปลอดภัย และแม่นยำมากขึ้น

 

หลังผ่าตัด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จะพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 วัน หลังจากนั้น สามารถทำกิจวัตรประจำวันเบาๆ ได้ และโดยทั่วไป สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติใน 1 สัปดาห์

 

ไส้ติ่งอักเสบ

 

กินเม็ดฝรั่ง เป็นไส้ติ่ง จริงไหม

 

บางคนอาจมีความเชื่อว่า การรับประทานเม็ดฝรั่ง หรือเม็ดของผลไม้อื่นๆ จะทำให้ไปอุดตันที่ไส้ติ่ง และส่งผลให้เกิดไส้ติ่งอักเสบ แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ไปอุดตันในไส้ติ่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอุจจาระของเราเอง ส่วนสาเหตุที่มาจากการรับประทานเม็ดของผลไม้ มีความเป็นไปได้ แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก

 

บทสรุป

 

“ไส้ติ่งอักเสบ” เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิต ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีอาการที่มีความเสี่ยง ว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาต่อไป

 

 

 

ที่มา : โรงพยาบาลเปาโล

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ