ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 "มะเร็งตับ" เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เป็นจำนวนมากถึง 27,394 ราย หรือคิดเป็น 14.4% ของโรคมะเร็งทั้งหมด ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 26,704 รายเสียชีวิต ซึ่งคิดเป็น 21.4% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในชายไทย และพบมากเป็นอันดับ 4 ในผู้หญิงไทย การพยากรณ์โรคมะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะที่ตรวจพบ
เมื่อเริ่มวินิจฉัย โดยทั่วไปแล้วอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีคือ 20% โดยผู้ที่มีระยะของโรคที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งออกไปนอกตับแล้วจะมีโอกาสอยู่รอดที่ 3 เปอร์เซ็นต์ที่ 5 ปี ในขณะผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะที่โรคมีขนาดไม่ใหญ่ จะมีอัตราการอยู่รอดที่ 34% ที่ 5 ปี
"มะเร็งตับ" เกิดขึ้นได้โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ 1. เกิดขึ้นที่ตับโดยตรง และ 2. เซลล์มะเร็งลุกลามมายังตับ สาเหตุของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับตับโดยตรง มักพบจากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
มะเร็งตับในระยะแรก มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการ ดังนี้
- ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่
- ท้องบวมขึ้น
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง
การรักษา "มะเร็งตับ" จะขึ้นกับสภาวะความรุนแรงของโรค ขนาดและลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคและการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หากมองที่แผนการรักษาจะสามารถแบ่งระยะของโรคได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาวะที่สามารถผ่าตัดได้หรือปลูกถ่ายตับได้ ภาวะที่ผ่าตัดไม่ได้แต่โรคยังไม่กระจาย และภาวะที่โรคมะเร็งได้กระจายไปนอกตับและอวัยวะอื่นแล้ว โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
- การผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้หลายแบบ เช่น การผ่าตัดตัดออกบางส่วน และการปลูกถ่ายเปลี่ยนตับ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จะทำได้ในกรณีที่ก้อนในตับมีขนาดน้อยกว่า 5 เซนติเมตร และผู้ป่วยต้องมีอายุน้อยกว่า 70 ปี
- การรักษาด้วยวิธีการทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งตับ สามารถทำได้หลายวิธี เช่นการใช้ความร้อนแบบ radiofrequency ablation หรือ microwave ablation , การรักษาด้วยการใช้ความเย็น, และการรักษาด้วยการใช้แอลกอฮอล์
- การรักษาด้วยหัตถการทางรังสีวิทยา เช่น การใส่ยาคีโม (trans-arterial chemoembolization, TACE) หรือใส่ยาอื่นๆ (drug-eluting bead chemoembolization, DEB-TACE) รวมไปถึงการใส่สารรังสี (radioembolization) เพื่อทำให้เกิดการทำลายชิ้นเนื้อมะเร็งตับ
- การรักษาด้วยการฉายรังสีจากภายนอกลำตัว โดยมีเทคนิคใหม่ๆเพื่อทำให้แสงรังสีมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงต่อเนื้อเยื่อมะเร็งตับ โดยไม่ให้เกิดภาวะข้างเคียงต่ออวัยวะรอบข้าง โดยเทคนิคที่เรียกว่า stereotactic body radiation therapy
- การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้าที่เรียกว่า targeted therapy ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่ kinase inhibitor และ monoclonal antibodies
- การรักษาผ่านระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ อันได้แก่ PD-1 and PD-L1 inhibitors และ CTLA-4 inhibitor การรักษาด้วยคีโม ซึ่งมียากลุ่มหลักๆได้แก่ gemcitabine, oxaliplatin, cisplatin, doxorubicin, 5-fluorouracil, capecitabine, mitoxantrone
การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับมะเร็งตับ คือ การป้องกันและตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ เนื่องจาก 90% ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูง หากมีมะเร็งตับเกิดขึ้น มะเร็งตับจะโตขึ้นเป็น 2 เท่าภายในเวลา 3-6 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีควรต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับและตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein) และตรวจอัลตร้าซาวด์ตับทุก 3-6 เดือน
การป้องกันและลดความเสี่ยงของมะเร็งตับทำได้หลายวิธี เช่น
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
- การจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสารพิษเช่น Aflatoxins
- การรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดตับแข็ง เช่น โรคเหล็กพอกตับ
- ตรวจยีนในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
ข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง