Lifestyle

เช็กอาการ 'ไอเพราะฝุ่น' แตกต่าง อาการไอ ทั่วไปอย่างไร พร้อม วิธีการดูแล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝุ่น PM2.5 วิกฤต เช็กอาการ 'ไอเพราะฝุ่น' แตกต่างจาก อาการไอ ทั่วไปอย่างไร พร้อม วิธีการดูแลตัวเอง ก่อนนำไปสู่ มะเร็ง

วิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่หลายจังหวัดในประเทศไทย กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เรียกได้ว่าคุณภาพอากาศในประเทศน่าเป็นห่วง ติดท็อปเมืองมลพิษมากที่สุดของโลก และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งแสบจมูก แสบคอ โดยเฉพาะอาการไอ แต่จะแยกออกได้อย่างไร ว่าไอแบบไหน ไอเพราะฝุ่น ไอแบบไหน เกิดโรคต่างๆ

 

อาการ “ไอเพราะฝุ่น” อาการแรกที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ความรู้สึกระคายคอ แสบคอ แสบจมูก ไอแห้ง หรือบางคนก็จามติดๆ กัน ซึ่งก็เป็นกลไกการป้องกันตัวเองของร่างกาย ที่พยายามจะขับเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการแสบคอ แสบจมูก คันคอ ไอแห้งๆ ล้วนเป็นความน่ารำคาญ ที่ใครก็ไม่อยากให้อยู่กับตัวเองนานๆ

 

อาการไอแบบไหน บ่งบอกโรค

 

  • ไอมีเสมหะ : พบในภาวะติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง อันเป็นผลจากการที่ร่างกายมีการขับสารเมือก หรือสารคัดหลั่งออกมาในระบบหายใจ จนทำให้เกิดอาการไอร่วมกับมีเสมหะ
  • ไอแห้ง : เกิดจากการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนกระตุ้นให้เกิดการไอ โดยไม่มีเสมหะปน สาเหตุที่พบได้ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ ยาลดความดันโลหิตกลุ่มของ ACEi inhibitor และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไข้ COVID-19
  • ไอเสียงก้อง : พบในเด็ก เกิดจากการบวมของระบบทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณกล่องเสียง และหลอดลม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่าโรคครูฟ คนไข้อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงแห้ง หายใจมีเสียง ไข้ ร่วมกับอาการไอเสียงก้อง

ไอเพราะฝุ่น

ไอแบบไหนควรพบแพทย์ด่วน

 

พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจ และภาวะวิกฤตระบบการหายใจ โรงพยาบาลนวเวช ให้ข้อมูลว่า กรณีที่อาการไอเป็นลักษณะไอเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น ไอเสมหะปนเลือด เสียงแหบ ไข้ น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ กลืนเจ็บ  กลืนลำบาก สำลัก ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ให้แนวทางการรักษา

อาการไอบอกโรค

คำแนะนำดูแลตัวเองเมื่อต้องเจออาการ ไอเพราะฝุ่น

 

1. ดื่มน้ำให้มากๆ

ในช่วงเวลาที่คันคอ แสบคอจากฝุ่น ไอเพราะฝุ่น ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ (อย่างน้อย 6 แก้วต่อวัน) เพื่อให้น้ำเข้าไปเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอ ลดอาการระคายคอไปได้บ้าง

 

2. กลั้วคอบ่อยๆ

หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว หรือเมื่อไรก็ตามที่รู้สึกระคายคอ ให้กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นๆ ผสมเกลือเล็กน้อย หรือน้ำเปล่าธรรมดาก็ได้ วิธีนี้จะช่วยทำความสะอาดคอ ทำให้คอชุ่มชื้น แถมยังบรรเทาอาการเจ็บคอหรืออาการระคายคอได้ด้วย

 

3. งดอาหารรสจัด

อาหารรสจัดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ลำคอได้มากขึ้น ดังนั้น ช่วงที่ระคายคอ หรือแสบคอควรงดอาหารรสจัดไปก่อน

 

5. ไม่กินของมัน

อาหารประเภททอด ผัด อาหารที่มีไขมันสูง หรือผลิตภัณฑ์จากนม ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายคอเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นหลีกเลี่ยงไว้ก่อนจะดีกว่า

 

6. งดใช้เสียงชั่วคราว

ในกรณีที่แสบคอมาก ควรงดตะโกน หรืองดการใช้เสียงดังๆ ไปจนกว่าอาการจะเป็นปกติ เพราะหากยังตะเบ็งใช้เสียง เส้นเลือดฝอยในลำคออาจได้รับผลกระทบ และเกิดการอักเสบได้

 

7. อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทดี

หากเป็นไปได้ให้อาศัยอยู่ในอาคาร บ้าน ตึก ที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นละอองและมลพิษ

 

8. จิบน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง

น้ำมะนาวมีกรดซิตริกและวิตามินซี ในขณะที่น้ำผึ้งมีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยต้านเชื้อโรค ดังนั้น เมื่อนำทั้งสองอย่างนี้มาผสมกันเป็นน้ำผึ้งมะนาว ก็จะช่วยแก้ระคายคอ แก้ไอ แก้อาการเจ็บคอ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำคอได้

อาการไอ

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ฝุ่นพิษฟุ้งอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และในหลายจังหวัดตอนนี้ ควรใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันฝุ่นละอองเมื่อต้องออกไปข้างนอก เพราะผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับฝุ่นพิษ ไม่ได้มีเฉพาะแค่อาการไอ แต่ยังนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย  

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล :  คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล, ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ,โรงพยาบาลนวเวช

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ