Lifestyle

'หลอดเลือดสมอง' รักษาได้แบบไม่ต้องผ่าตัด ลดอัตราพิการ เสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักษา 'หลอดเลือดสมอง' แบบไม่ต้องผ่าตัด ใช้วิธีสวนหลอดเลือดทดแทน ลดอัตราพิการ และเสียชีวิตได้สูง รพ.ตรัง รักษาสำเร็จช่วยชีวิตคนได้แล้วหลายราย

โรค "หลอดเลือดสมอง" เป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิต เป็นอันดับ 2 ของประชากรไทย โดยพบว่า ร้อยละ 80 เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อีกร้อยละ 20 เกิดจากเลือดออกในสมอง ซึ่งการรักษาจะต้องแข่งกับเวลา      เพราะทุกๆ 1 นาที จะสูญเสียเซลล์สมองไป 1.9 ล้านเซลล์

 

การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยโรค "หลอดเลือดสมอง" จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง 

เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในวงการแพทย์ได้มีการคิดค้นวิธีการรักษาโรค "หลอดเลือดสมอง" พร้อมกับมีการพัฒนาระบบการรักษาโรค"หลอดเลือดสมอง" มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้นำวิธีการรักษาที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูง คือ การใส่สายสวนหลอดเลือดสมองเพื่อลากลิ่มเลือดโดยขดลวด ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ที่ทันสมัย (Mechanical thrombectomy) มาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดใหญ่สมองอุดตัน โดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความพิการเนื่องจากความเสียหายของสมองได้และมีความปลอดภัยสูง เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันใน หลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด

ภาพประกอบบทความเท่านั้น

 

ตัวอย่างโรงพยาบาลที่ทำการรักษาโรค "หลอดเลือดสมอง" แบบไม่ผ่านตัดสำเร็จ คือโรงพยาบาลตรัง โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาล นพ. สมบัติ สธนเสาวภาคย์ กล่าวว่า วิธี Mechanical thrombectomy เป็นการรักษาโดยใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ จากนั้นใช้ขดลวดหรือสายสวนขนาดใหญ่ลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือด ร่วมกับการเอกซเรย์ด้วยเครื่อง biplane or single plane (DSA) ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์สำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาระบบหลอดเลือดโดยเฉพาะ

 

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ร้อยละ 40 โดยในปี 2563 – 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 204 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับส่งต่อจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพัทลุง ซึ่งระยะทางที่ไกลทำให้มีผลต่อการรักษา โดยมีผู้ป่วยที่มารักษาทันภายใน 6 ชั่วโมง เพียงร้อยละ 15 โรงพยาบาลจึงพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง 14 จังหวัดภาคใต้ แบบไร้รอยต่อ โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบระหว่างโรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 

 

อย่างไรก็ตามเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และเป็น อัมพฤกต์ อัมพาต โรงพยาบาลยังคงพัฒนาการรักษาโรค "หลอดเลือดสมอง" ต่อเนื่อง โดยเพิ่มศักยภาพการรักษา โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองและโรคหลอดเลือดเชื่อมต่อผิดปกติในสมอง ด้วยการใส่ขดลวดผ่านสายสวน หลอดเลือดโดยไม่ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Coil Embolization) พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์โรคหลอดเลือดสมองเพื่อดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบและหลอดเลือดสองแตกแบบครบวงจร โดยตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ในปี 2570

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ