'อาหารเป็นพิษ' โรคสุดฮิตที่ใครๆ ก็เป็น เช็กเลย อาการแบบไหนควรรีบพบแพทย์
รู้จัก ภาวะ 'อาหารเป็นพิษ' ทำไมถึงกลายเป็นโรคสุดฮิตที่ใครๆ ก็เป็น ต้องป้องกันยังไงไม่ให้เป็น อาการแบบไหนควรรีบพบแพทย์
อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) หมายถึง อาการท้องเดิน (อุจจาระร่วง) ซึ่งในช่วงเวลานี้ กลายเป็นโรคยอดฮิตของใครหลายคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่คนในวงการบันเทิงอย่าง 'แอ๊ด คาราบาว' ที่ล่าสุดก็ป่วยด้วยอาการ อาหารเป็นพิษ เช่นกัน
อาหารเป็นพิษ มักเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ โดยอาจเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อโรคซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด, สารเคมี, พืชพิษ หรือสัตว์พิษ และมักพบว่าในหมู่คนที่รับประทานอาหารร่วมกัน จะมีอาการพร้อมกันหลายคน ซึ่งอาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคลและปริมาณที่รับประทานเข้าไป
สาเหตุของ ภาวะอาหารเป็นพิษ
ภาวะอาหารเป็นพิษ ที่ทำให้เกิด โรคอุจจาระร่วง เกิดได้จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อหรือสารพิษของเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือโปรโตซัว เชื้อโรคบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารจะสามารถสร้างสารพิษ ซึ่งสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดจะทนต่อความร้อน แม้เชื้อที่ก่อสารพิษจะตายไปแล้วจากการปรุงด้วยความร้อน แต่สารพิษอาจยังคงอยู่ในอาหารได้
อาหารที่อาจพบเป็นสาเหตุของ ภาวะอาหารเป็นพิษ
นมหรือผลิตภัณฑ์ของนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ เนื้อสัตว์ ไข่ สลัด แซนด์วิช อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล อาหารที่ปรุง ตั้งไว้นานแล้วไม่ได้นำมาอุ่นให้ร้อนเพียงพอก่อนรับประทาน
อาการของภาวะ อาหารเป็นพิษ
เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษของเชื้อดังกล่าว จะเกิดอาการปวดท้อง ลักษณะปวดบิดเป็นพักๆ อาเจียน ซึ่งอาจจะมีเศษอาหารที่เป็นต้นเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษออกมาด้วย ถ่ายเหลว อาจถ่ายเป็นน้ำ น้ำปนเนื้อ หรืออาจมีมูกเลือดปน ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
โดยทั่วไป ถ้าอาการไม่รุนแรง อาการต่างๆ มักจะหายได้เองภายในระยะเวลา 24 - 48 ชม. หรืออาการค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรงอาจมีอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง และมีอาการแสดงของการทำงานล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น ปัสสาวะออกน้อยลงจากไตเสื่อมฉับพลัน ซึมลง หรือสับสน เป็นต้น
ระยะฟักตัวของโรค
ระยะฟักตัวของโรคขึ้นกับชนิดของเชื้อและสารพิษของเชื้อ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารพิษของเชื้อเจือปนอยู่แล้ว (Preformed toxin จากเชื้อ Staphylococcus aureus หรือ Bacillus cereus) มีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 30 นาที - 6 ชม. การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่สร้างสารพิษหลังเข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อ enterotoxigenic Escherichia coli หรือมีกลไกการก่อโรคโดยการทำลายเยื่อบุทางเดินอาหาร เช่น เชื้อ Salmonella, Campylobacter หรือ Shigella) จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 24 ชม. หรืออาจนานกว่านี้ สำหรับการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโปรโตซัว เช่น Cryptosporidium parvum จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 7 วัน
อาการที่ต้องมาพบแพทย์
- อาเจียนหลายครั้ง หรือ ถ่ายเหลวหลายครั้ง
- มีอากาการอ่อนเพลีย ซึมลง มีไข้สูง หอบเหนื่อย มีอาการทางระบบประสาท
- รับประทานอาหารและน้ำดื่มได้น้อยลง
- มีอาการถ่ายเป็นมูก หรือเลือดปน
- อาการไม่ดีขึ้นภายหลังระยะเวลา 48 ชม.
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง
ไวรัสโรต้า
ไวรัสโรต้า เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีหลายสายพันธุ์ เมื่อเชื้อไวรัสนี้เข้าไปในระบบทางเดินอาหารแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงได้ ซึ่งพบมากในเด็กเล็กและมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโต ถึงขนาดที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ไวรัสโรต้ายังทนต่อสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงจึงทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว
อาการที่พบ
- อาเจียน
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- มีไข้
- ชักเพราะไข้สูง
- ไวรัสโรต้าอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียนอย่างหนักจนเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้ จึงควรสังเกตอาการขาดน้ำที่เป็นสัญญาณเตือนว่าต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ได้แก่ กระหายน้ำ ปากแห้ง กระวนกระวาย ซึม ตาโบ๋ กระหม่อมบุ๋ม เป็นต้น
วิธีการรักษา
การดูแลรักษาเจ้าตัวเล็กและผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้าที่ดีที่สุดคือ การทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ดังนี้
- ดื่มน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย บ่อยๆ
- เลี่ยงการให้ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อ
- งดนมและผลไม้
- ถ้าเป็นเด็กเล็กไม่ต้องหยุดนมแม่
- หากอาการไม่รุนแรงควรให้ดื่มน้ำสะอาดร่วมกับน้ำเกลือแร่ อาหารเหลว และอาหารอ่อน
- ถ้าอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน ซึม และเพลียมาก ควรรีบพบแพทย์ทันที
ป้องกันระวัง ไวรัสโรต้า
เนื่องจากการติดเชื้อ ไวรัสโรต้า ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงและการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อนี้ เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกัน ได้แก่
- ล้างมือบ่อยๆ
- ก่อนและหลังทานอาหารรวมถึงหลังเข้าห้องน้ำต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- ทานอาหารปรุงสุก สดใหม่
- ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ใช้อุปกรณ์การทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ถ้าเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กต้องล้างมือทุกครั้ง
- หมั่นทำความสะอาดของเล่นอยู่เสมอ
- เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการท้องเสีย
วัคซีนป้องกันเจ้าตัวเล็กจาก ไวรัสโรต้า
วัคซีนป้องกันอาการท้องร่วงรุนแรงจากไวรัสโรต้าในปัจจุบันเป็นวัคซีนชนิดหยอดที่ใช้ได้เฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ลดความรุนแรงของโรค และมีความปลอดภัยสูง โดยจะเริ่มหยอดครั้งแรกในเด็กที่มีอายุเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไปและจะให้ครั้งต่อไปห่างจากครั้งแรก 4 สัปดาห์ โดยหยอดทางปาก 2 หรือ 3 ครั้งขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบถ้วน แม้จะท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าก็จะมีอาการเบาลง ทั้งนี้ควรพบกุมารแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อรับวัคซีนและคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม
ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต / โรงพยาบาลกรุงเทพ