Lifestyle

"อากาศหนาว" เช็ค 6 โรค (ต้อง) ระวัง พร้อม 7 วิธีรับมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พยากรณ์อากาศ" มาเต็มขนาดนี้ เช็ค 6 โรค (ต้อง) ระวัง จาก "อากาศหนาว" พร้อม 7 วิธีรับมือ เพื่อดูแลสุขภาพ ร่างกาย ให้แข็งแรง ห่างไกลโรค

"พยากรณ์อากาศ" ที่ทำให้หลายคนดีใจ ที่จะต้องเจอกับ "อากาศหนาว" แต่รู้หรือไม่ว่า สภาพอากาศเช่นนี้ จะทำให้ร่างกายป่วยได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากในช่วงที่อากาศหนาวเย็น เป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอด และแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือสุขภาพไม่แข็งแรง จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

ดังนั้น เรามาทำความรู้จัก 6 โรคที่มากับ "อากาศหนาว" เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคต่าง ๆ และป้องกันการเจ็บป่วย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงแต่เนิ่น ๆ มาดูกันว่า โรคที่พบบ่อยในช่วงหน้าหนาวที่ควรระวังมีอะไรกันบ้าง

 

1. โรคไข้หวัด

 

แม้อาการไข้หวัดธรรมดา จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แต่ข้อแตกต่างคือ ไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ จะไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ

 

วิธีรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัด เนื่องจากมีเชื้อไวรัสหลายชนิด และส่วนใหญ่มักจะหายเอง หากเป็นไข้หวัดควรพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำ และเช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อระบายความร้อนในร่างกาย และรับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ และยาลดน้ำมูก หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ เพื่อเช็คอาการ

 

วิธีดูแลตัวเอง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซี ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ

 

2. โรคไข้หวัดใหญ่

 

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่เรียกว่า อินฟลูเอ็นซาไวรัส (Influenza virus) หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ Influenza A และ B หากเป็นจะมีอาการหนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย

 

วิธีการรักษา

ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย เช็ดตัวบ่อย ๆ รับประทานยาตามอาการ หากรับประทานยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที

 

วิธีดูแลตัวเอง

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ควรรับวัคซีนได้แก่ เด็กเล็ก คนชรา แพทย์ และพยาบาล โดยต้องเข้ารับการฉีดทุกปี เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุใหม่และร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

6 โรค อากาศหนาว

3. โรคปอดบวม

 

เกิดจากภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไว้รัส ทำให้มีหนองและสารน้ำในถุงลม จนเนื้อบริเวณปอดนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ คัดจมูก จาม และมีเสมหะมาก มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน หนาวสั่น แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด มักจะพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 - 10 ปี

 

วิธีการรักษา

  • หากรู้สึกว่ามีอาการคล้ายเป็นปอดบวม ควรรีบพบแพทย์ทันที หากแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการปอดบวม จะได้รับยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลม

 

วิธีดูแลตัวเอง

  • รีบรับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ดื่มน้ำอุ่นให้มาก ๆ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม

 

4. โรคหัด

 

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อรูบีโอลาไวรัส มักระบาดช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน มักพบในเด็กตั้งแต่อายุ 2 - 12 ขวบ ติดต่อกันได้ง่าย จากการไอ จาม รดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาคือ น้ำมูกไหล ไอแห้ง ตาและจมูกแดง มีไข้สูง หากมีไข้ติดต่อกัน 3-4 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และยังมีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก กระพุ้งแก้ม และฟันกรามบน ซึ่งตุ่มเกิดขึ้นเฉพาะโรคหัดเท่านั้น พอผื่นออกได้ประมาณ 1 - 2 วัน เด็กจะมีอาการดีขึ้น

 

วิธีการรักษา

  • ยังไม่มียารักษาโดยตรง มีเพียงการรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจสั้น เจ็บหน้าอกขณะหายใจ ชัก ควรรีบพบแพทย์ทันที

 

วิธีดูแลตัวเอง

  • ฉีดวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมันและคางทูม จะช่วยป้องกันโรคหัดได้ โดยจะเริ่มฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ

 

5. อุจจาระร่วง

เป็นอีกโรคที่มากับฤดูหนาวที่ควรระวัง ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่ระบาดมากสุดช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก ผ่านกระเพาะอาหารแล้วแบ่งตัวที่ลำไส้ พบบ่อยในเด็กอายุ 6-12 เดือน เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ อาการของโรคจะมีไข้ ท้องเสียรุนแรงและอาเจียนอย่างหนัก บางรายเสียน้ำมากจนช็อกหรือเสียชีวิต

 

วิธีการรักษา

  • ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง จึงต้องรักษาตามอาการให้ดีขึ้น โดยควรจิบเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำได้ จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแทน

 

วิธีดูแลตัวเอง

  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัส เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน สามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน วัคซีนจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค และลดความรุนแรงลงได้

 

6. โรคไข้อีสุกอีใส

 

มักระบาดช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อไวรัสวาริเซลลา ติดต่อผ่านทางการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง สัมผัสของใช้ มีระยะฟักตัวในร่างกาย 10 - 20 วัน พบมากในเด็กอายุ 5 - 15 ปี โดยเกิดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน

 

วิธีการรักษา

  • ต้องรักษาตามอาการ เมื่อมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ควรแคะ แกะ เกา บริเวณตุ่ม เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นแผลเป็นได้ ส่วนมากผู้ป่วยโรคนี้ไม่ต้องพบแพทย์ เพราะอาการไม่รุนแรง ไม่มีมีโรคแทรกซ้อน

 

วิธีดูแลตัวเอง

  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้สุกใส โดยฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็น ก็สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้เช่นกัน

รับมือ อากาศหนาว

 

เตรียมความพร้อม รับมืออากาศหนาว เพื่อป้องกันการเจอ 6 โรค

 

  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายในหน้าหนาวนั้นจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าการออกกำลังกายปกติ ควรเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตนเอง เช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง แอโรบิค หรือ โยคะ การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่ม ระบบไหลเวียนเลือด และเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย
  2. สวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ และมิดชิด ทำให้ร่างกายอบอุ่นให้มากที่สุด ควรเลือกเสื้อผ้าที่ไม่บางเกินไป สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เต้าหู้ไข่ และ ธัญพืช เพราะธาตุเหล็กจะช่วยป้องกันโรคหวัด และเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้
  4. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ควรดื่มน้ำที่อุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น จะช่วยให้ผิวพรรณมีความชุ่มฉ่ำ ไม่แห้ง และยังช่วยเรื่องระบบขับถ่ายต่าง ๆ ดีขึ้น
  5. รับประทานวิตามินเสริม สำหรับผู้ที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเมื่อเจอกับอากาศหนาว อาจจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ จึงควรป้องกันด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมไปกับการรับประทานวิตามิน เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี เพราะวิตามินเหล่านี้ สามารถช่วยให้ห่างไกลจากการเป็นหวัดได้
  6. งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงฤดูหนาว
  7. บำรุงผิวกายให้ชุ่มชื่นเสมอ การทาโลชั่น หรือครีมบำรุงผิวจะช่วยป้องกันผิวไม่ให้แห้ง แตกลอก และการทาลิปบาล์มที่ริมฝีปากจะช่วยให้ปากคุณชุ่มชื่น ไม่แตกได้
  8. พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-8 ชม. ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอนั้น จะมีผลต่อสุขภาพร่างกายเราเป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่วงเวลา ที่ร่างกายได้พักผ่อน และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

 

ปฎิบัติเพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถมีภูมิต้านทาน รับมือกับ อากาศหนาว ได้แล้ว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ