จากกรณีที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับฝ่ายแพทย์การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สอบสวนโรคกรณีได้รับแจ้งจากสายการบิน พบ ผู้เสียชีวิตบนเครื่องบิน ระหว่างเดินทางมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
เป็นชายไทย อายุ 71 ปี มีโรคประจำตัวหอบหืด ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2(โควิด 19) แต่ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส MERS ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวจากกรณีดังกล่าวเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ร่วมกับฝ่ายแพทย์การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สอบสวนโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 71 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 2 เข็ม และไม่ได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม
นอกจากนี้ยังได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น โดยญาติผู้เสียชีวิตปฏิเสธการแพ้ยา และผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ผู้เสียชีวิตเดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบียพร้อมสมาชิกครอบครัวรวม 5 คน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ขณะอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย 3 วันก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ผู้เสียชีวิตมีอาการหอบหืด เหนื่อย ไอ จึงรักษาตามอาการ
เมื่อถึงกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ก่อนขึ้นเครื่องบินผู้เสียชีวิตมีอาการอ่อนแรง ต้องนั่งรถเข็นมาส่งหน้าประตูเครื่องบิน
หลังจากนั้นขณะอยู่บนเครื่อง เวลาประมาณ 8.00 น. (เวลาประเทศไทย) ผู้โดยสารที่นั่งใกล้ๆสังเกตเห็นอาการผิดปกติมีลักษณะนั่งคอพับ จึงได้แจ้งลูกเรือให้การช่วยเหลือ ซึ่งไม่พบสัญญาณชีพของผู้เสียชีวิต
จึงได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยลูกเรือกับพยาบาลต่างชาติที่เป็นผู้โดยสารบนเครื่อง และมีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ(AED) แต่ไม่มีสัญญาณชีพใดๆ
และเนื่องจากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ซึ่งถือเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด จึงเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกส่วนหลัง ส่งตรวจโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และ โรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ณ สถาบันบำราศนราดูร และ ห้องปฏิบัติการด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ผลพบสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2(โควิด-19) แต่ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส MERS เจ้าหน้าที่ได้ส่งศพผู้เสียชีวิตไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ประเทศไทยได้วางระบบเฝ้าระวังคัดกรองไว้อย่างรัดกุม โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
หากผู้เดินทางมีอาการป่วยสงสัย หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศ ที่มีรายงานโรคอุบัติใหม่ขอให้ไปตรวจรักษาและแจ้งประวัติการเดินทางกับแพทย์
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำมาตรการที่สำคัญสำหรับประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยง 608 คือการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 4 เข็ม และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4-6 เดือน ให้รีบไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคโควิด19 ทุกสายพันธุ์ที่พบในขณะนี้
โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทั่วประเทศ และสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศและเป็นกลุ่มเสี่ยงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเดินทางอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง
นอกจากนี้ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะจากผู้อื่น ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้สังเกตอาการตนเอง และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง