
ภัยใกล้ตัว รู้จักโรค "หน้าเบี้ยวครึ่งซีก" โรคที่ใครก็เป็นได้
โรคใบ "หน้าเบี้ยวครึ่งซีก" (Bell’s palsy) หมายถึงอาการที่กล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกเกิดการอ่อนแรง ทำให้หลับตาได้ไม่สนิท มุมปากตก และขยับใบหน้าซีกนั้นไม่ได้ โอกาสในการเกิดโรคนี้สูงถึง 1 ใน 500 คน
โรคใบ "หน้าเบี้ยวครึ่งซีก" (Bell’s palsy) หมายถึงอาการที่กล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกเกิดการอ่อนแรง ทำให้หลับตาได้ไม่สนิท มุมปากตก และขยับใบหน้าซีกนั้นไม่ได้โดยเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 โดยโรคนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ พบได้บ่อยในคนทุกวัยทุกเพศ ทุกอาชีพและทุกเชื้อชาติ
โอกาสในการเกิดโรคนี้สูงถึง 1 ใน 500 คน ถูกพบในช่วงระหว่าง 13-34 รายต่อประชากร 100,000 รายต่อปี พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถึง 3 เท่าในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์หรือในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด และในผู้ที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง
อาการของโรค "หน้าเบี้ยวครึ่งซีก" จะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด มักมีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้ อาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียวเพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิท หรือรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใด ข้างหนึ่ง อาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วย พูด ยิ้ม หรือกะพริบตา บางรายอาจเป็นมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตาหรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย
บางคนสังเกตว่าพูดไม่ชัด ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานไม่ได้เหมือนปกติ หลายคนบ่นว่า มีความรู้สึกเหมือนหน้าบวม ตึงและชาที่ใบหน้าครึ่งซีก ทั้งนี้เป็นเพราะเวลากล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานก็จะทำให้เลือดมาคั่งในบริเวณนั้นมากกว่าปกติ และจะมีผลกระตุ้นต่อเซลล์รับความรู้สึกบริเวณใบหน้า จึงเกิดอาการชาขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกที่ใบหน้าแต่อย่างใด อาการร่วมที่อาจพบได้คือ ลิ้นชาด้านเดียวกับที่ปากเบี้ยว ทานอาหารแล้วไม่รู้รส
อาการของโรคนี้ จะหายไปภายใน 4-8 อาทิตย์ แต่ประมาณ 10 % มีโอกาสเกิดขึ้นอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้าม ของใบหน้าได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการเหลือปรากฏให้เห็นไปเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต
คนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค "หน้าเบี้ยวครึ่งซีก"
- หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย หรือหลังคลอดบุตร
- ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่
- คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง
- คนที่มีภาวะเครียด
- คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ "หน้าเบี้ยวครึ่งซีก"
- ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
- ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ
- สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง
- ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
- ทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยกระตุ้นใบหน้าข้างที่อ่อนแรง เช่น laser
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้เกือบ 100% ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา