Lifestyle

"ผู้ชาย" ไม่ใส่กางเกงใน เป็น ไส้เลื่อน ? เปิด 7 ปัจจัยเสี่ยง ต้องรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขข้อข้องใจ "ผู้ชาย" ไม่ใส่กางเกงใน เป็น "ไส้เลื่อน" จริงหรือไม่ เปิด 7 ปัจจัยเสี่ยง ต้องรู้ หากปล่อยไว้ เสียชีวิตได้

ความเชื่อที่ว่า ไม่ใส่กางเกงใน จะทำให้เป็นโรค "ไส้เลื่อน" เป็นสิ่งที่บรรดาชายหนุ่ม น่าจะถูกเตือนมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนฝังอยู่ในหัวไปแล้ว รวมทั้งความเชื่อที่ว่า โรคไส้เลื่อน เป็นได้เฉพาะในผู้ชายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ผิดทั้งสองเรื่อง เพราะผู้หญิงก็สามารถเป็นได้ และไส้เลื่อน ไม่ได้เกิดจากการไม่สวมใส่กางเกงใน

 

นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ และเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โรคไส้เลื่อน เกิดจากความดันในช่องท้องสูง ร่วมกับกล้ามเนื้อ และพังผืดบริเวณผนังหน้าท้องหย่อนยาน ทำให้ลำไส้เคลื่อนที่มาตุงบริเวณหัวหน่าวถุงอัณฑะ หรือขาหนีบ 

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน
 

  • ไอเรื้อรัง เช่น การไอของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
  • การตั้งครรภ์
  • การยกของหนักเป็นประจำ
  • การเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก
  • ต่อมลูกหมากโตทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ
  • มีของเหลวในช่องท้อง เช่น เกิดจากการที่ตับมีปัญหา

 

อาการของไส้เลื่อน

 

ในตอนเริ่มต้นผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนนั้น ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน ต้องอาศัยการสังเกตจากลักษณะภายนอกเป็นหลัก เช่น มีก้อนลักษณะตุงนูนยื่นออกมาบริเวณที่เคยผ่าตัด หรือบริเวณขาหนีบ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาจะเริ่มมีอาการจุก ไปจนถึงเจ็บปวด บริเวณที่มีก้อนตุงนูนออกมา จนถึงขั้นรู้สึกแน่นท้อง ปวดแสบปวดร้อน ซึ่งเป็นอาการในระดับรุนแรงต้องได้รับการผ่าตัดด่วน

 

ไส้เลื่อน ขอบคุณภาพจากยันฮี

 

ทั้งนี้ โรคไส้เลื่อนบางชนิด อาจไม่มีก้อนนูนให้เห็นเลย แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ ปวดเฉพาะเวลาไอจาม หรือยกสิ่งของ มีอาการท้องผูก มีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ ซึ่งอาจเกิดจากโรคไส้เลื่อนได้

 

อาการที่ผู้ป่วยไส้เลื่อนต้องมาพบแพทย์ทันที 

 

  • ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
  • ไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
  • ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม
  • คลื่นไส้ อาเจียน


ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้บริเวณใดบ้าง

 

ไส้เลื่อนเป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้ชาย และแบ่งออกได้หลายชนิด ตามตำแหน่งและสาเหตุของการเกิดโรค เช่น


 
1. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบมากที่สุด และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไส้เลื่อนชนิดนี้มี 2 ลักษณะคือ

 

  • เป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่เกิดจากผนังหน้าท้องส่วนล่างหย่อนยาน ทำให้มีลำไส้ยื่นออกมาบริเวณหัวเหน่า (direct inguinal hernia)
  • เป็นไส้เลื่อนที่เคลื่อนออกมาตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ (indirect inguinal hernia) ซึ่งรูเปิดนี้เดิมเป็นทางออกของเลือดที่มาเลี้ยงลูกอัณฑะระหว่างพัฒนาการของทารกในครรภ์มารดาและจะปิดไปตามธรรมชาติ แต่เกิดความผิดปกติที่ทำให้รูเปิดยังคงอยู่ ทำให้ลำไส้หรือแผ่นไขมันเคลื่อนออกมาได้ และอาจเคลื่อนต่อเนื่องไปยังถุงอัณฑะ

 

  ไส้เลื่อน ขอบคุณภาพจากยันฮี

 

2. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (femoral hernia) พบในตำแหน่งต้นขาด้านใน หรือที่เรียกว่าช่อง femoral canal แต่พบได้ค่อนข้างน้อย และมักพบเฉพาะในผู้หญิง โดยสาเหตุอาจเกิดจากผนังของ ช่อง femoral canal อ่อนแอแต่กำเนิด หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง
 

3. ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (incisional hernia) เป็นไส้เลื่อนที่เกิดกับผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน หรืออาจเกิดระหว่างที่แผลผ่าตัด
ยังไม่หายสนิทก็ได้ โดยพบได้ทุกเพศทุกวัย เนื่องจากการผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ หรือหย่อนยาน จนลำไส้หรืออวัยวะอื่น ๆ ดันตัวขึ้นมา
 

4. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (umbilical hernia) มักพบในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นของผิวหนังยังปิดไม่สนิท ทำให้บางส่วนของลำไส้ เคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือ และดันจนสะดือโป่งหรือที่เรียกกันว่า สะดือจุ่น แต่ไส้เลื่อนสะดือยังสามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้

 

5. ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (spigelian hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่มีความรุนแรง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งกล้ามเนื้อหน้าท้องที่เรียกกันว่าซิกซ์แพ็ค
 

6. ไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) เกิดจากการที่ผนังกระบังลมหย่อนยานหรือมีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนขึ้นไปยังบริเวณช่วงอก เป็นภาวะไส้เลื่อนที่พบได้ในผู้สูงวัย
 

7. ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (obturator hernia) เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้น้อยมาก และมีความรุนแรงค่อนข้างมาก มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่มีรูปร่างผอมบาง

 

ผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้

 

ผู้หญิงเป็นไส้เลื่อนได้หรือไม่

 

ไส้เลื่อน สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะพบได้ในผู้ชายมากกว่า เนื่องจากบริเวณขาหนีบของผู้ชาย จะมีช่องถุงอัณฑะที่อ่อนแรงได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเกิดไส้เลื่อนขึ้นมากกว่า ส่วนไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการยกของหนัก รวมถึงผ่าตัด หรือผ่าคลอดเนื่องจากการตั้งครรภ์ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องอ่อนแรงจนเกิดไส้เลื่อนขึ้นมาได้

 

อันตรายที่เกิดจากไส้เลื่อน

 

ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่ไม่อันตราย แต่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ลำไส้ทะลักออกมา จนผนังของช่องท้องเกิดการรัดตัว ทำให้ลำไส้ขาดเลือด เนื้อเยื่อเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินอย่างเร็วที่สุด เพราะหากผ่าไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้

 

การป้องกันไส้เลื่อน

 

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เพื่อป้องกันท้องผูก และการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังเมื่อต้องยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก หากต้องยกให้ย่อเข่าแล้วยกขึ้น ไม่ก้มตัวยก
  • หากมีอาการไอเรื้อรัง ต้องรักษาให้หายขาด
  • ไม่สูบบุหรี่

 

น่าจะกระจ่างแล้ว สำหรับความเชื่อ ผู้ชายไม่สวมกางเกงใน เสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อน ปัจจัยหลายอย่าง บ่งบอกแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็น เพศหรือวัยใด ก็สามารถเป็นได้ เมื่อเข้าใจโรค ก็จะทำให้เราป้องกันไม่ให้เกิดโรค ได้ง่ายขึ้น

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ